ประจวบคีรีขันธ์-ธรรมนัส”สั่งด่วน”เร่งกำจัดสารบีทีของกลางทิ้งร้างนาน12 ปีภายในสัปดาห์นี้ หลังชาวบ้านผวาหวั่นได้รับสารพิษ
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 9 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ประจวบฯ เพื่อติดตามการนำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี หลังทราบปัญหาการร้องทุกข์ของชาวบ้านในหลายพื้นที่ให้เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากจังหวัดประจวบฯกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทางการเกษตรและน้ำใช้สาธารณูปโภคในหลายพื้นที่ของจังหวัดประจวบฯ รวมถึงการแก้ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะมะพร้าว
ซึ่งจากรายงานพื้นที่การระบาดในภาพรวมทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 พบการระบาดของหนอนหัวดำ ใน 28 จังหวัด พื้นที่ 16,039.99 ไร่ และแมลงดำหนาม ใน 25 จังหวัด พื้นที่ 14,953.76 ไร่ โดยจังหวัดที่พบการระบาดสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี เพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบการทำลายของหนอนหัวดำเพิ่มขึ้นช่วงต้นปี 2567 ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน กระทรวงเกษตรฯ
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เร่งนำศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำ 4 ชนิด ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่า แมลงหางหนีบสีดำ และแมลงหางหนีบขาวงแหวน ไปปล่อยในสวนมะพร้าวของเกษตรกร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผลการดำเนินการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) โดยรวม คือ ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ 33 ล้านตัว ในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อย-ปานกลาง รวมสะสม 18,944.50 ไร่ (พฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567) ควบคู่กับการใช้สารเคมี จำนวน 10,686 ไร่ (ตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) โดยก่อนดำเนินการ สำรวจพบหนอนมีชีวิตเฉลี่ย 28 ตัว/ต้น และสำรวจหลังดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน พบหนอนมีชีวิตลดลงเฉลี่ยเหลือ 11.1 ตัว/ต้น
หลังการประชุม ร้อยเอก ธรรมนัส ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อสอบถามถึงกรณีปัญหาสารบีทีที่ใช้กำจัดแมลงดำหนามในสวนมะพร้าวของชาวเกษตรกร มูลค่า 32.8 ล้านบาท ซึ่งตกเป็นของกลางถูกเก็บไว้เป็นจำนวนมากในหอประชุมอำเภอเมืองประจวบฯ รวมทั้งกองทิ้งไว้ในเมรุร้างใกล้โรงเรียน ที่วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก นาน 12 ปี จนหมดอายุการใช้งาน เป็นวัตถุอันตรายประเภท 2 และชาวบ้านหวั่นวิตกเกรงว่าจะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เริ่มฉีกขาดรั่วไหลส่งกลิ่นเหม็นตามกระแสลมอยู่กลางใจเมืองห่างจากตลาดและจวนรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงไม่เกิน 50 เมตร
เมื่อทราบเรื่องได้ประสานและสั่งการให้หน่วยงานส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยได้รับปากกับสื่อมวลชนว่าจะแก้ปัญหาให้ภายในสัปดาห์นี้ พร้อมกับสั่งการให้ผู้ว่าและนายอำเภอเมืองประจวบฯตรวจสอบร่วมแก้ไขปัญหา โดยยอมรับว่าเนื่องจากตนเข้ามาบริหารราชการในรัฐบาลใหม่จึงไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน
สำหรับปัญหาเรื่องสารบีที เกิดขึ้นหลังจากเมื่อปีงบประมาณ 2555 มีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินเพื่อจัดซื้อสารบีทีใช้กำจัดแมลงดำหนามเป็นจำนวนมาก โดยจังหวัดใช้เงินทดลองราชการจากการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดซื้อสารบีที และสารเคมีชนิดอื่น เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกร แต่กรมวิชาการเกษตรมีหนังสือแจ้งว่า บริษัทคู่สัญญานำสินค้าที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ไม่ได้แจ้งเพื่อดำเนินการผลิต จึงไม่สามารถนำมาจำหน่ายกับทางราชการได้
จังหวัดจึงทำการแจ้งเวียนให้บริษัทคู่สัญญาทำการเคลื่อนย้ายสารบีทีออกจากสถานที่ของทางราชการตามเวลาที่กำหนด จะดำเนินการตามข้อกฎหมายนั้น ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีการดำเนินการเคลื่อนย้ายนำไปกำจัดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 12 ปี บรรจุภัณฑ์บางส่วนเริ่มฉีกขาดรั่วไหลส่งกลิ่นเหม็นตามกระแสลมและเมื่อเดินเข้าไปอยู่ใกล้อาคารเก็บวัสดุ และยังคงเก็บรักษาไว้ที่หอประชุมอำเภอเมืองฯ และในเมรุร้างใกล้โรงเรียนที่วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก โดยมีการใช้ลวดหนามล้อมรอบเอาไว้ไม่ให้ใครเข้าใกล้ ซึ่งชาวบ้านหวั่นวิตกการเกิดมลภาวะและมลพิษทางกลิ่นส่งผลเสียต่อสุขภาพเนื่องจากสารดังกล่าวอยู่ในใจกลางเมืองฯ แต่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ไม่กล้าปริปากพูด