สมุทรปราการ-สนามบินสุวรรณภูมิทะยานขึ้นสู่อันดับ 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

สมุทรปราการ-สนามบินสุวรรณภูมิทะยานขึ้นสู่อันดับ 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

ภาพ-ข่าว:อัญมณี คงสินธ์ / สุรศักดิ์ คงสินธ์

                 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายการผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นั้น ในปี 2024 นี้ เว็บไซต์ Skytrax ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับการให้บริการของสนามบินได้ประกาศสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ประจำปี 2024
                ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ติดอันดับที่ 58 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 68 โดยขึ้นมา 10 อันดับจากปี 2023 ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) ซึ่งผลการจัดอันดับดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินทั่วโลก ภายใต้การสำรวจที่ชื่อว่า World’s Airport Survey จัดทำโดยบริษัท Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการบินชั้นนำของประเทศอังกฤษที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์คุณภาพการให้บริการของสายการบินและสนามบินทั่วโลก โดยคำนึงถึงหมวดการให้บริการสนามบิน เช่น การเดินทาง สภาพแวดล้อมและการออกแบบ เจ้าหน้าที่สนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการ เป็นต้น
                AOT มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและผลักดันให้บริการท่าอากาศยานเพื่อให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT เป็นท่าอากาศยานที่มีมาตรฐานสากล มีความสะดวกสบาย ผู้โดยสารได้รับการบริการที่รวดเร็ว และปลอดภัย โดยอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ทสภ.ได้รับการประเมิน 4 ดาว จากด้านสถาปัตยกรรม ความสะอาด บรรยากาศโดยรวม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากสายการบินในการใช้เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เครื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS)
                 นอกจากนี้ ทสภ.ได้มีการปรับปรุงกระบวนการ ณ จุดตรวจค้น และเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจหนังสือเดินทาง ทำให้สามารถลดระยะเวลารอของผู้ใช้บริการลง โดยระยะเวลาการใช้บริการในกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 26 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 37 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 55 นาทีต่อคน) ขณะที่กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 35 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 25 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน) สำหรับ ทดม. มีให้บริการด้วยการใช้เทคโนโลยีทำให้การเดินทางปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระบบ CUSS CUBD SBG และ PVS ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอคิวนาน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!