นครปฐม-กรมสมเด็จพระเทพฯทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ฯ
ภาพ-ข่าว:บ.ก.อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
วันที่ 19 เมษายน 2567 เวลา 09.59 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ ณ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน และผู้แทนนักศึกษา เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ในการนี้ ดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่กำพูฉัตร ทรงถือสายสูตรยกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ จากนั้นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณสนับสนุนการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2563 จำนวน 100 ราย
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2563 ประกอบด้วยการจัดสร้างพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ หอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ที่ฐานผ้าทิพย์ และหอพระ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 โดยมี มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา ร่วมเฉลิมพระเกียรติ
พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ มีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล” มีขนาดความสูง 98 นิ้ว หน้าตักกว้าง 65 นิ้ว ปิดผิวด้วยทองคำและอัญมณี ซึ่งนำต้นแบบพุทธลักษณะจาก “พระพุทธมหาลาภ” ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 นำมาปรับแต่งให้มีพุทธลักษณะให้มีความงดงามและอ่อนช้อยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มฐานบัวและผ้าทิพย์
สำหรับหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ เป็นอาคารทรงมณฑปศิลปะไทยประยุกต์ผสมผสานสถาปัตยกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทรงเรือนยอดประยุกต์จากศิลปะพม่า เสาและบัวหัวเสาเป็นศิลปะเขมร กรอบประตูทางเข้า เป็นศิลปะจีน ฐานระเบียงมีลวดลาย ดอกไม้ของมาเลเซีย หัวเสาราวบันไดเป็นศิลปะชวา ฉากหลังตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมซุ้ม เรือนแก้วลายพันธุ์พฤกษาและสัตว์หิมพานต์ที่เป็นมงคล แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ด้านนอกมณฑป มีลานประทักษิณ กว้าง 2 เมตร และด้านหลังออกแบบเป็นทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ชั้นล่างสุดเป็นทางเดินปูด้วยหินเทียม ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตามแนว “พุทธอุทยาน”