ประจวบคีรีขันธ์-ผู้ว่าฯ เปิดงาน “เดือนห้านมัสการหลวงพ่อในกุฏิวัดกุยบุรี” ครบรอบ 153 ปี
ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.67 ที่วัดกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก นายกเหล่ากาชาดจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานพิธีเปิดงานเดือนห้านมัสการหลวงพ่อในกุฏิวัดกุยบุรี ครบรอบ 153 ปี โดยได้รับเมตตาจาก พระธรรมวชิรสิทธาจารย์ เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดคลองวาฬ พระอารามหลวง ประธานฝ่ายสงฆ์ พระเทพวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดประจวบฯ (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหา พระราชรัตนวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดประจวบฯ (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดกุยบุรี พร้อมด้วยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เข้าร่วมในพิธี มีนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ นายสินาทร โอ่เอี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายอำเภอกุยบุรี หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แขกผู้มีเกียรติและประชาชน พุทธศาสนิกชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน โดยก่อนเปิดงานมีขบวนแห่อัญเชิญหลวงพ่อในกุฏิ เพื่อให้ชาวบ้านกราบนมัสการบูชาพร้อมเครื่องสักการะ ซึ่งงานดังกล่าวทางวัดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มานมัสการปิดทองรูปหล่อ “หลวงพ่อในกุฏิ” ในระหว่างวันที่ 21-29 เม.ย.67 เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน
“หลวงพ่อในกุฏิ” เดิมชื่อมาก หรือบุญมาก ท่านเกิดในราวปีมะเส็ง สมัยแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นน้องคนสุดท้องของ 3 พี่น้อง คือ ท่านอินทร์ ท่านม่วง และท่านมาก ท่านมีพี่น้องสี่คน น้องคนสุดท้องเป็นผู้หญิง ท่านเป็นคนปักษ์ใต้โดยกำเนิดน่าจะอยู่จังหวัดชุมพร ตระกูลของหลวงพ่อเป็นตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เมื่ออายุครบบวชท่านและพี่ชายได้ออกบวชและครองสมณเพศตลอดชีวิต หลวงพ่อทั้งสามเชี่ยวชาญเรื่องเวชกรรม ไสยศาสตร์ และวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อบวชเป็นเวลาพอสมควรแล้วจึงชวนกันออกธุดงค์ มีความแตกฉานในสรรพวิชาทั้ง 3 องค์ เมื่อได้อยู่จำพรรษาที่วัดเดิมกันมาตามสมควรแล้วจึงได้ชักชวนกันเดินธุดงค์โดยหลวงพ่ออินทร์ เลือกมาจำพรรษาที่เมืองกำเนิดนพคุณ หรือเมืองบางสะพาน ปัจจุบันมีรูปเหมือนของท่านประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาโบสถ์ อำเภอบางสะพาน หลวงพ่อม่วง น้องคนกลาง เลือกจำพรรษาที่ถ้ำแห่งหนึ่งระหว่างบ้านกรูดและทับสะแก ถ้ำแห่งนั้น คือ ถ้ำคีรีวงศ์ และกลายเป็นวัดถ้ำคีรีวงศ์ ในปัจจุบัน ส่วนหลวงพ่อมาก หรือหลวงพ่อในกุฏิ เลือกจำพรรษาที่เมืองกุยบุรี ที่วัดกุยบุรี วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมีแม่น้ำกุยบุรีไหลผ่านทางด้านหลังวัดและตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ที่พระภิกษุจะต้องออกไปบิณฑบาตในเวลาเช้า นับเป็นสับปายะของผู้อยู่อาศัยถึงจะไม่ไกลจากหมู่บ้านแต่ก็ปราศจากเสียงอื้ออึงเข้ามารบกวน สมเป็นที่หลีกอยู่ของสมณะผู้ใคร่หาความสงบ หลวงพ่อในกุฏิเป็นผู้ที่ใฝ่ใจในด้านหาความสงบทางจิตยู่แล้ว จึงได้รับอาราธนาจากเจ้าเมืองและชาวกุยบุรี ปกครองวัดกุยบุรีตลอดมา
ปฏิปทาของหลวงพ่อในกุฏิ ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และชำนิชำนาญคล่องแคล่วด้านไสยศาสตร์คาถานับว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีอาคมขลังพร้อมทั้งเป็นผู้มีเมตตาจิตอย่างสูง ทั้งเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย คือเมื่อพูดคำใดแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นดังนี้ชาวเมืองกุยบุรี เมืองคลองวาฬ เมืองปราณ ตลอดจนถึงเมืองใกล้เคียงจึงได้ศรัทธาเลื่อมใสในบุญบารมีเป็นอันมาก เมื่อใดได้รับทุกข์ก็จะต้องหาโอกาสมาบนบานศาลกล่าว ขอให้ช่วยปัดเป่าให้ผ่อนคลายหายจากทุกข์นั้นๆ ครั้นเมื่อได้รับความสำเร็จแล้วหรือสมความปรารถนาจากที่ตนได้บอกกล่าวกับหลวงพ่อไว้แล้วก็จะต้องนมัสการและปิดทองที่ตัวท่านเป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันรูปเหมือนหลวงพ่อในกุฏิก็ยังมีคนมาปิดทองท่านอยู่ตลอดมา.