ประจวบคีรีขันธ์-‘นายกเศรษฐา’ชงเปลี่ยนชื่อสนามบินหัวหิน เป็น ‘เพชร-หัวหิน’ รับการท่องเที่ยว
ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางไปที่ท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ ตรวจเยี่ยมการพัฒนาสนามบิน เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 13 – 14 พ.ค.67 มี นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ ให้การต้อนรับ โดยท่าอากาศยานหัวหิน อยู่ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม มีพื้นที่ทั้งหมด 492 ไร่ มีอาคารผู้โดยสาร 1 หลัง สูง 2 ชั้น ขนาด 7,200 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คน/ชั่วโมง และพื้นที่ลานจอดเครื่องบินขนาด 11,000 ตารางเมตร รองรับเครื่องบิน แอร์บัส เอ 320 ได้ประมาณ 3 ลำ และยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ฝึกการบิน สถาบันการบินพลเรือน และ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ปัจจุบันมีสายการบินที่เปิดให้บริการสายการบินเดียวคือสายการบินไทยแอร์ เอเชีย เที่ยวบิน หัวหิน – เชียงใหม่ ให้บริการทุกวัน วันละ 1 เที่ยว
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ท่าอากาศยานหัวหิน เป็นสนามบินที่มีศักยภาพแต่ยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ ขณะนี้มีการขยายรันเวย์และเขตความปลอดภัยการบินให้ได้มาตรฐาน ICAO เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ คาดว่า แผนงานจะเสร็จภายใน 2 ปี แต่สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ร่นระยะเวลาให้เสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง เพื่อให้ทันไตรมาส 4 ของปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้ หัวหิน-ชะอำ มีโรงแรมและสนามกอล์ฟอยู่มาก สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติได้ในการเดินทางมาทำธุรกิจ ท่องเที่ยว ประชุมสัมมนา และคณะทำงานได้มีการพูดคุยหารือร่วมกัน มีความคิดว่าเมื่อแผนการพัฒนาปรับปรุงสนามบินแล้วเสร็จ อาจจะเปลี่ยนชื่อเป็นท่าอากาศยานเพชร-หัวหิน
กรมท่าอากาศยานได้พัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ปรับปรุงขยายรันเวย์ตามมาตรฐานสำหรับการบินความยาว 2,100 เมตร ความกว้าง รวมไหล่ทาง 60 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ได้และอยู่ระหว่างการดำเนินแผนการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยพื้นที่รอบข้างสนามบิน โดยมีงานก่อสร้างอุโมงค์ถนน และขยายพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่งตรงอุโมงค์รถยนต์และรถไฟ จากเดิม 40 เมตร เป็น 60 เมตร และพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่งตรงอุโมงค์รถไฟ ให้ความกว้างได้ 90 เมตร ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ปัจจุบันได้ประกาศประกวดราคาครั้งที่ 2 แล้ว หากการดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานหัวหินจะมีศักยภาพรองรับการบินระหว่างประเทศได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจในพื้นที่