ฉะเชิงเทรา-“อีอีซี”นำร่องเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี

ฉะเชิงเทรา-“อีอีซี”นำร่องเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี

ภาพ-ข่าว:สุรเชษฐ์ จันทร์ทอง 

“อีอีซี “เดินหน้าสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ต่อเนื่อง เปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ฉะเชิงเทรา ดึงพลังสตรี ร่วมพัฒนาอาชีพ สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าถึงชุมชน

            ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ นายประสิทธิ์ อินทโชติ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายธีระพล สุ่มมาตย์ นอภ.บางน้ำเปรี้ยว และนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. เข้าร่วมกิจกรรม เปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลคอยร็อต ต.หมอนทอง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้กลุ่มสตรีในพื้นที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี เข้าตรงถึงชุมชน และเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ในพื้นที่ สร้างโอกาสการพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พื้นที่และชุมชน
            ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งนี้ ถือเป็น ศูนย์ฯ พลังสตรี นำร่องในพื้นที่ อีอีซี ครบทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา อีอีซี ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อดึงพลังของกลุ่มสตรี มาเป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน ร่วมถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และประโยชน์สำคัญที่จะได้รับ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง อีกทั้งกลุ่มเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่อีอีซี จะส่งเสริมคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อเนื่อง
            นอกจากนี้ ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี นำร่อง ฉะเชิงเทรา แห่งนี้ จะประสานกับอีอีซี ทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการ ในระดับวิสาหกิจชุมชน ไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพื้นที่ อีอีซี มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของนักลงทุน และผู้ที่จะมาทำงาน และอยู่อาศัยในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป
           สำหรับที่ตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน ตั้งอยู่ภายในมัสยิสดารุ้ลคอยร๊อต ต.หมอนทอง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวมุสลิม แต่สามารถอยู่ร่วมกับชาวพุทธได้อย่างกลมกลืน พื้นที่นี้จึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นเครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และสามารถนำความรู้ประสบการณ์กลับมาขยายผลในพื้นที่ทั้งประชาชนและโรงเรียนต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กิจกรรมตลาดนัดในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้มีผู้มาติดต่อ และเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เยาวชนจากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ยังเป็นเครือข่ายเยาวชน อีอีซี ที่เข้มแข็งมีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้รับรางวัลจากโครงการ อีอีซี สแควร์ ถึง 2 ปี ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน จึงเป็นอีกกลไกสำคัญของ อีอีซี ที่สามารถขยายการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งไปยังกลุ่มผู้นำศาสนา ชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!