ประจวบคีรีขันธ์-ขนส่งจังหวัดฯ อบรมผู้ประกอบการรถรับจ้างหัวหิน ในการช่วยชีวิตเบื้องต้น
ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.67 ที่โรงแรมนาวีภิรมย์ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ นางเพ็ญศรี นาคบาตร หัวหน้าสำนักงานขนส่งจังหวัดประจวบฯ สาขาปราณบุรี เป็นประธานเปิดโครงการ BDMS อบรมการช่วยชีวิตบนท้องถนน แก่ผู้ประกอบการรถรับจ้างหัวหิน รุ่นที่ 1 มี นายกิติพงษ์ สิริเพชรเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถหัวหิน จำกัด ผู้ทรงคุณวุฒิงานจราจรและขนส่งจังหวัดประจวบฯ พร้อมผู้ประกอบการรถรับจ้างหัวหิน กว่า 50 คน เข้ารับการอบรม โดยได้รับเกียรติจาก นพ.พงษ์ศักดิ์ บุญยะลีพรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน พร้อมทีมวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้กับผู้เข้ารับการอบรม
นางเพ็ญศรี นาคบาตร กล่าวว่า ขนส่งจังหวัดประจวบฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะกับเหตุการณ์บนท้องถนนซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกวัน จึงได้ร่วมกับ บริษัท รถหัวหิน จำกัด และโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง และพร้อมรับมือหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะ อ.หัวหิน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศ มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ถ้าหากเราพบเจอเหตุฉุกเฉินก็สามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต
นายกิติพงษ์ สิริเพชรเกษม กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ ขนส่งจังหวัดฯ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ที่ได้จัดอบรมในครั้งนี้ ซึ่งทางผู้ประกอบการรถรับจ้างทุกคนจะได้รับความรู้และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะเราทุกคนมีโอกาสที่จะเจอเหตุการณ์ฉุกเฉินบนท้องถนน การอบรมจะช่วยให้เกิดความมั่นใจและสามารถจะเป็นผู้ที่ช่วยชีวิตผู้อื่นได้ วันนี้เป็นการอบรมรุ่นแรก เรายังมีผู้ประกอบการรถรับจ้างอีกหลายคนที่สนใจจะเรียนรู้ ก็หวังว่าจะได้ร่วมกับทางภาครัฐและทางโรงพยาบาลจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้อีกต่อไป
ด้าน นพ.พงษ์ศักดิ์ บุญยะลีพรรณ กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน ) ได้จัดการอบรมมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสดีที่สำนักงานขนส่งจังหวัดประจวบฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญกับผู้ประกอบการรถรับจ้างในการเข้ารับการอบรม โดยโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหินนั้นตั้งเป้าหมายในการอบรมการช่วยชีวิตนี้ เพื่อให้ผู้ที่ได้เข้ารับการอบรมมีความรู้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนได้อย่างถูกวิธีก่อนส่งถึงมือแพทย์ การอบรมจะมีทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นด้วยการปั๊มหัวใจ (CPR) กับหุ่นฝึกกู้ชีพ การใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) และการช่วยเหลือผู้ป่วยสำลักอุดกันทางเดินหายใจ (Choking) ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับมอบประกาศนียบัตรจาก BDMS ตามแนวคิดที่ว่า แม้ไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หากเรามีองค์ความรู้และมีความมั่นใจผ่านการอบรมและฝึกปฏิบัติจริง.