ชุมพร-สภาเกษตรกรจังหวัด เปิดประชุมถกปัญหาภัยแล้งกระทบพืชผลการเกษตรรุนแรง
ภาพ/ข่าว:ประสิทธิ์ ลีฬหคุณากร
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 27 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมเกาะเสม็ด ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดชุมพร นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร เป็นประธานการประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ครั้งที่ 5/2567 โดยมีสมาชิกสภาเกษตรกรทุกเขตและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม ก่อนวาระการประชุมได้มีการมอบเกียรติบัตรเชิดซูเกียรติเกษตรกรต้นแบบ และองค์กรเกษตรกรตันแบบของสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ประจำปีงบประมาณ 2567 เกษตรกรต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด คือ นายพิเซฏฐ เทศรัตน์ และองค์กรเกษตรกรตันแบบที่ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด คือ วิสาหกิจชุมชนทุเรียนดิจิทัลชุมพร โดยนายบรรเลง ศรีสวัสดิ์ เป็นผู้รับมอบ จากนั้นได้มีการรายงานผลปฏิบัติงานของสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพรและสมาชิกสภากษตรกรจังหวัด การรับรองรายงานการประชุมสภาฯ ครั้งที่ 4/2567 การใช้จ่ายงบประมาณ การสรุปผลโครงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดชุมพร พ.ศ.2567-2570 และร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนากิจกรรมตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 41 มาตรา 11 โดยผ่านความ คิดเห็นทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้เกษตรกรร่วมกันคิดวิเคราะห์หาทางออกแก้ไขปัญหา กำหนดแนวทาง ตอบสนองความต้องการที่จะพัฒนาภาคการเกษตร และสรุปผลโครงการจัดอบรมการพัฒนาศักยภาพด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพเพื่อยกระดับราคาผลผลิต โดยทำร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพร
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณา รายชื่อเครือข่ายผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน และพิจารณาคัดเลือกผู้แทนเกษตรกรระดับตำบล เพื่อเป็นเครือข่ายในการประสานงานในหมู่บ้านต่างๆ โดยจะร่วมกับสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาเกษตรกรตามแนวทางเกษตรอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญ 6 ด้านประกอบด้วย ด้านหนี้สิน ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ด้านที่ดินทำกิน ด้านราคาสินค้าเกษตร ด้านสวัสดิการสิทธิเกษตรกรเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และด้านสังคมหรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ส่วนในเรื่องอื่นๆได้นำปัญหาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ที่กัดกินยอดมะพร้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข การก่อสร้างฝายเก็บน้ำขนาดใหญ่หรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในจังหวัด การ ปรับปรุงผิวถนนเพื่อขนถ่ายพืชผลทางการเกษตร หมู่ที่ 14 บ้านสามแยกจำปา ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโกระยะทาง 2.6 กิโลเมตรซึ่งเป็นพื้นที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากติดขัดข้อกฎระเบียบต่างๆ และถกปัญหาภัยแล้งกระทบพืชผลการเกษตรรุนแรง ซึ่งคาดการณ์ว่าผลผลิตมังคุด ที่เคยได้ปีละ 30,000 ตัน จะลดลงเหลือเพียง 20,000 ตันเท่านั้น สำหรับทุเรียนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลงมาก อีกทั้งเริ่มเจอปัญหาคู่แข่งเช่นเวียดนามซึ่งอยู่ใกล้กว่าประเทศไทย ทำให้ได้เปรียบทางการค้า ซึ่งประเทศไทยต้องขนถ่ายด้วยรถบรรทุกผ่านเข้าเวียดนามไปสู่จีน ทำให้เกิดความล่าช้า จึงมีการเสนอให้ใช้การขนส่งทางรถไฟ ซึ่งจะเข้าสู่ประเทศลาวถึงประเทศจีนได้ ใช้เวลาน้อยกว่าวิ่งผ่านเวียดนาม