สุโขทัย-เกษตรอำเภอฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แมลงศัตรูข้าว

สุโขทัย-เกษตรอำเภอฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แมลงศัตรูข้าว

ภาพ-ข่าว:ชวิศา สุริยา

             นางสาวชวิศา สุริยา เกษตรอำเภอเมืองสุโขทัย ลงพื้นที่ร่วมกับ ทีมงานกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย นำทีมโดย นายชัยศรี ไชยมณี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกาตรจังหวัดสุโขทัย และผู้นำชุมชน ติดตามสถานการณ์แปลงข้าวที่พบอาการผิดปกติใบล่างเหลือง ปลายใบไหม้ แคระแกร็น ต้นข้าวไม่เจริญเติมโต โดยมีนายประเสริฐ อินเกตุสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดพิษณุโลก ร่วมลงพื้นที่และวินิจฉัยอาการผิดปกติดังกล่าว ณ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านหลุม อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
              จากการลงพื้นที่สำรวจโรคและแมลงศัตรูในแปลงดังกล่าว พบว่าสาเหตุเกิดจากแมลงหวี่ขาวข้าว โดยพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวบนใบข้าว ผลกระทบของภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทําให้อุณหภูมิปรับตัวสูงขึ้น แมลงหลายชนิดจึงปรับพฤติกรรมและหาแหล่งอาหารใหม่ส่งผลให้เกิดการระบาดของ แมลงศัตรูข้าว “อุบัติใหม่” ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พบรายงานการระบาดของแมลงหวี่ขาวข้าวในนาข้าวเป็นครั้งแรกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี
               ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดพิษณุโลก ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวข้าว ดังนี้ 1) ใช้หลักการบริหารจัดการแบบผสมผสาน 2) ใช้พันธุ์ข้าวหมุนเวียนปลูกในแต่ละฤดู – ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว 3) ไม่ปลูกข้าวหนาแน่น การปลูกข้าวแบบปักดําจะลดความรุนแรงของการเข้าทําลายได้ดีกว่าการปลูกแบบหว่าน ควรใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ในการหว่านข้าวตามคําแนะนําของกรมการข้าว 4) ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูงหรือใช้เกินความจําเป็น 5) หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ฉีดพ่นควบคุมด้วยเชื้อราบิวเวอเรีย

               ทั้งนี้ หากพบแมลงหวี่ขาวจำนวนมาก และมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมี สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุโขทัย ได้รวบรวมข้อมูลจากข้อแนะนำของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดพิษณุโลก แนวทางการป้องกันกำจัดจากกรมการข้าว รวมถึงข้อมูลจากกลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร เกษตรกรสามารถเลือกใช้สารเคมีตามคำแนะนำดังนี้
             1) กลุ่ม 4A เช่น อะมิดาโคลพริดหรือ อะซีทามิพริด 2) กลุ่ม 9B เช่น ไพมีโทรซีน 3) กลุ่ม 16 เช่น บูโพรเฟซิน 4)กลุ่ม 23 สไปโรเตตระเมท และ 5) กลุ่มไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์ โดยใช้อัตราตามคำแนะนำในฉลาก แนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ห่างกันทุก 5-7 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง และหมุนเวียนสารตามกลไกลการออกฤทธิ์ (ไม่พ่นซ้ำสารในกลุ่มเดิมในรอบวงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืช เพื่อชะลอความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง) ในส่วนไวต์ออยล์และปิโตรเลียมออยด์หากผสมกับสารเคมีกลุ่ม 4A จะเสริมฤทธิ์สารเคมีในการป้องกันกำจัดได้เพิ่มขึ้น ลดความสูญเสียที่อาจเกิดจากการเข้าทำลายของแมลงหวี่ขาว ต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!