สมุทรปราการ-ล้นคลอง !! ปลาหมอคางดำ นับล้าน ถึงคลองด่านแล้ว

สมุทรปราการ-ล้นคลอง !! ปลาหมอคางดำ นับล้าน ถึงคลองด่านแล้ว

ภาพ-ข่าว:สุรศักดิ์ / อัญมณี คงสินธ์

            ปลาหมอคางดำ นับล้าน ถึงคลองด่านแล้ว เริ่มสร้างปัญหากัดกินทุกสิ่งอย่าง เหมือนเครื่องจักรสังหารมีชีวิต ชาวบ้านหวั่น หากปล่อยไว้อาจทำลายระบบนิเวศ สัตว์น้ำพื้นถิ่นสูญพันธุ์ วอนหน่วยงานตื่นตัวเร่งแก้ไข
             เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พบปลาหมอคางดำจำนวนมากอยู่ในคลองธรรมชาติ เริ่มสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม กัดกินสัตว์น้ำพื้นถิ่น เช่น ปลากระบอก ปลานิล ที่เคยมีชุกชุม เวลานี้หายไปเกือบหมดคลอง
              หลังรับแจ้งผู้สื่อข่าว เดินทางไปยังคลองตาเจียน หมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พบกับ นายสิทธิกร เอกวงษ์ อายุ 21 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ ทดลองทอดแห-จับปลาในคลองให้ผู้สื่อข่าวดู ผลประกฎว่า ที่ได้ขึ้นมาทั้งหมดคือ ปลาหมอคางดำ ซึ่งตัวเมียในท้องมีไข่อยู่เต็ม ส่วนตัวผู้กำลังอมไข่ ฟักให้เป็นตัว เพื่อขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณแทนที่สัตว์น้ำพื้นถิ่นที่อยู่ในคลอง
             นางพิศมร ศรีศิลธ์ อายุ 75 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า เห็นปลาหมอคางดำ มาประมาณ 1 เดือน ที่ผ่านมาเคยทอดแหจับปลาในคลองข้างบ้าน มักได้ปลานิล ปลากระบอก ขึ้นมาทำอาการกิน แต่ตอนนี้ ทุกครั้งที่ทอดแห จะได้แต่ปลาหมอคางดำทั้งหมด ซึ่งเป็นปลาที่กินได้ แต่เนื้อแข็งกระด้าง ไม่นิ่มอร่อยเหมือนปลาพื้นถิ่น
             นายธนพจน์ ทรงกรานต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ตอนนี้กังวลมาก เพราะปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่แพร่พันธุ์เร็วมากและกินทุกอย่าง ทั้งสัตว์น้ำขนาดเล็กจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต รวมถึงพืชน้ำต่าง ๆ เป็นปลานักล่าที่เหมือนมีสัตว์ 3 ชนิด รวมอยู่ในตัวเดียวกัน คือ ปลาปิรันยา ปลาซักเกอร์ และหอยเชอรี่ ขณะนี้เพิ่งพบเจอในคลอง คาดว่ายังอยู่ในพื้นที่จำกัด อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้ามาจัดการนำปลาหมอคางดำ ออกจากแหล่งน้ำให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะแพร่ขยายพันธุ์ ออกไปสู่ทะเล แล้วสร้างปัญหาในวงกว้าง
              น.ส.ธนภร เจียรสุข นายกสมาคมการประมงคลองด่าน กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่แพร่พันธุ์เร็วมากใช้เวลาเพียง 22 วัน ในการวางไข่-ฟักเป็นตัว และไข่ยังรอดชีวิตถึงร้อยละ 99 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดพัก ส่วนเรื่องการกิน ปลาหมดคางดำมีลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า สามารถกินอาหารได้ทุก ๆ 1 ชั่วโมง หรือ กินได้วันละ 24 มื้อ เมื่อคาดการณ์แล้วในแต่ละวัน ปลาหมอคางดำ อาจขยายพันธุ์ได้วันละ 1 ล้านตัว ถ้าหากปล่อยไว้ 3 เดือน เขาจะมีปริมาณมากเป็นทวีคูณแล้วจะแก้ไขไม่ทัน ปัญหาที่ ต.คลองด่าน เพิ่งเริ่มขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้ยังคงนิ่งเฉยอยู่ อย่าปล่อยให้เขาขยายพันธุ์แล้วมาทำลายระบบนิเวศพังเสียหายหมด โดยเฉพาะถ้าหากเขาออกสู่ทะเลได้ จะทำให้เป็นปัญหาใหญ่เกินการควบคุม
           จากการสอบถาม นายสมควร อิ่มหนำ เจ้าของบ่อเลี้ยงปลา-กุ้ง กล่าวว่า ในบ่อของตนไม่เหลือปลาหรือกุ้ง เนื่องจากโดนปลาหมอคางดำ ลุกล้ำเข้าไปกินหมดแล้ว ตอนนี้เปลี่ยนมาเลี้ยงหอยแทน ส่วนในคลองหน้าบ้าน มีแต่ปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมาก ถ้าวางอวลดักน่าจะจับขึ้นมาได้เป็นร้อยกิโลกรัม จากนั้น ทดลองทอดแหให้ดู ได้ปลาหมอคางดำทั้งหมด ไม่มีปลากระบอก หรือ ปลานิล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นเหมือนแต่ก่อน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!