ปราจีนบุรี-กิจกรรมอนุรักษ์กำแพงเมือง-คูเมือง เมืองศรีมโหสถยุคทวารวดี
ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ
กรมธนารักษ์ร่วมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกิจกรรมอนุรักษ์กำแพงเมือง – คูเมือง เพื่อพัฒนาท้องถิ่น มิติด้านสังคม กำแพงเมือง – คูเมือง เมืองศรีมโหสถยุคทวารวดี สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว –พัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน เริ่มจากเตรียมพัฒนาเติมน้ำให้เต็มตลอดปี
วันนี้ 31 ก.ค.62 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า ที่ภายในเมืองเขตเมืองโบราณศรีมโหสถ กรมธนารักษ์ร่วมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ได้กิจกรรมการอนุรักษ์กำแพงเมืองคูเมืองเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มิติด้านสังคม โดยมีนายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผวจ.ปราจีนบุรี มีนายสมมาตร มณีหยัน ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการสำรวจและฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ กล่าวรายงาน
จากนั้นได้มีพิธีเปิดป้ายสื่อความหมาย กำแพงเมือง คูเมือง เมืองศรีมโหสถ , พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมธนารักษ์กับเทศบาลตำบลโคกปีบและองค์การบริหารส่วนตำบลโคกปีบ(อบต.) และการเสวนารู้รักษ์บ้านเกิดเมืองศรีมโหสถ โดยวงเสวนิ มีนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศลผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายปรีชา สมงคลหัตถี อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์และแผน ทรงคุณวุฒิ) นายสด แดงเอียด ผู้ทรงคุณวุฒิ(อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากรและอธิบดีกรมการศาสนา ) ว่าที่ร้อยตรี เพชรมณี แทวกระโทก ผู้แทนเจ้าอาวาสวัดคาทอลิกอารักข เทวดาโคกวัด
นายอำนวย กล่าวว่า “ กรมธนารักษ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ในการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และได้จัดทำแผนบริหารจัดการที่ราชพัสดุ เป้าหมาย 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2563 โดยมีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุเชิงอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมอยู่ในแผนบริหารจัดการที่ราชพัสดุดังกล่าวด้วย
สำหรับบทบาทของกรมธนารักษ์ที่ผ่านมา มีการดำเนินการตาม ภารกิจต่างๆอย่างมากมายบนพื้นฐานความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการศึกษากำหนดขอบเขตที่ดินกำแพงเมืองคูเมืองที่ศรีมโหสถ ได้เริ่มต้นศึกษาร่องรอยที่เป็นหลักฐาน เพื่อกำหนดแนวที่เป็นกำแพงเมือง – คูเมืองโดยอาศัยหลักฐานข้อมูลที่ปรากฏให้เห็นได้ในรูปถ่ายทางอากาศ ประกอบการศึกษาสภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐาน แหล่งชุมชนโบราณ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ต่อจากนั้นได้พิจารณาศึกษากำหนดขอบเขตที่ดินกำแพงเมืองคูเมืองลงบนรูปถ่ายทางอากาศที่ปรับแก้และ กำหนดพิกัด UTM มาตรฐานส่วน 1 : 4,000” นายอํานวย กล่าว
และกล่าวต่อไปว่า “ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้ และสื่อความหมายให้แก่ประชาชนและผู้สนใจในเรื่องราวของสถานที่ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่เมืองเก่า ได้รับความรู้อย่างทั่วถึง มุ่งเน้นให้ส่วนราชการท้องถิ่น เทศบาล มีบทบาทเป็นผู้นำการอนุรักษ์การพัฒนา ปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชรทุกกลุ่มองค์กร หันมาสนใจ และให้ความร่วมมือในการช่วยกันรักษา คุณค่าความเป็นกำแพงเมือง คูเมือง ให้คงสภาพแวดล้อมที่ดีสืบไป”นายอํานวย กล่าวในที่สุด
ด้านนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผวจ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า “การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ ที่นี่เป็นเมืองเก่าแก่อายุมากกว่า 2,000 ปี ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี มีการขุดค้นพบหาวัตถุดิบที่สำคัญของโบราณสถานมาถึงปัจจุบัน ได้พยายามจะเชื่อมโยง สิ่งนี้ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ที่ได้อาศัยอยู่บริเวณที่นี่ โดยการให้เขาตระหนักถึงคุณค่า และพัฒนาสิ่งใดให้เกิดความร่มรื่นสวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุกคนอยากจะมา ประทับใจถ้ามีคนมาเที่ยวมากๆ ก็สามารถพัฒนาเรื่องการส่งเสริมรายได้อาชีพต่างๆ ทางจังหวัด มีแนวคิดจะนำน้ำเข้ามาเดิม ในคูเมือง –กำแพงเมืองโบราณให้เต็มตลอดทั้งปี ซึ่งที่ผ่านมาถูกทิ้งร้าง โดยเฉพาะหน้าแล้งน้ำแล้งมาก เลยเราก็พยายามจะมาดูว่าจะทำยังไงจะดึงน้ำกลับมาได้ ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ เราก็ขุดลอกเพื่อดึงน้ำเข้า ถ้าน้ำเข้ามาเมื่อไร คิดว่าที่นี่จะมีความสมบูรณ์มากขึ้นพื้นที่รออบ ๆ เป็นสวนผลไม้โดยเฉพาะส้มโอพันธุ์ดี จะได้ประโยชน์ทางการเกษตร ได้ประโยชน์คนมาท่องเที่ยว อาทิ ชมเมือง-แหล่งโบราณสถาน ที่ภายในเมืองศรีมโหหสถ – ใกล้เคียง มีหลากหลาย
ซึ่งจะขอ กล่าวถึงโบราณสถานโบราณสถาน ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี เพียงบางส่วนคือ คูเมืองโบราณ และ สระแก้ว คูเมืองโบราณ อยู่ที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ มีลักษณะเป็นกลุ่มเมืองโบราณในสมัยทราวดี ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปมนค่อนข้างรี ขนาดกว้างประมาณ 700 เมตรและยาวประมาณ 1, 500 เมตร มีเนื้อที่ 742 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา คูเมืองกว้างประมาณ 14-20 เมตรมีร่องรอยว่า คงจะเคยเป็นที่ตั้งป้อม เชิงเทินและประตูเมือง
ใกล้ ๆ กันในตัวเมืองศรีมโหสถมีสระแก้ว อยู่นอกเมืองโบราณศรีมโหสถไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตำบลโคกปีบอำเภอศรีมโหสถ เป็นสระน้ำโบราณซึ่งขุดลงไปในศิลาแลงธรรมชาติ มีความสวยงามเนื่องจากรอบๆสระมีภาพสลักบนแผ่นศิลาแลงเป็นรูปสัตว์ต่างๆ 41 ภาพ เช่นช้างมกร งู เป็นต้น
นอกจากนี้ ใกล้เคียงกันยังมีรอยพระพุทธบาทคู่ อยู่ในโบราณสถานวัดสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ เป็นรอยพระพุทธบาทคู่ขนาดใหญ่ สลักบนพื้นศิลาแลงที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้างระหว่างรอยพระบาทมีกากบาทสลักลึกเป็นร่องคาดว่าน่าจะสร้างตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14 นับว่าเป็นรอยพระพุทธบาทคู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พร้อมกับมีร่องรอยความเจริญทางพระพุทธศาสนา ที่ยังเหลือไว้อีกคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์วัดต้นโพธิ์ ต.โคกปีบ อ.ศรีมโหสถ อายุมากกว่า 2,500 ปี ที่ขนาดใหญ่ที่สุดนำหน่อมาจากเมืองพุทธคยาประเทศอินเดีย ที่สามารถเดินทางมานมัสการเพื่อเป็นสิริมงคล และรวมถึงแวะนมัสการหลวงพ่อทวารวดีพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ยุคทวารวดีอีกด้วย” นายพิบูลย์กล่าว
และกล่าวต่อไปว่า “พร้อมกันนี้ รอบกำแพงเมือง – คูเมือง เมื่อพัฒนาเสร็จแล้ว ยังสามารถส่งเสริมสุขภาพเชิงกีฬามาขี่จักรยาน –มาวิ่ง มาพักผ่อน อันนี้จะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันท้องถิ่นอำเภอศรีมโหสถได้หลังจากได้ทำการกำหนดขอบเขตกำแพงเมืองคูเมืองของเมืองศรีมโหสถแล้ว
สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป ก็คือเรื่องของการอยู่ร่วมกันของการใช้ประโยชน์กำแพงเมืองกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องช่วยกันดูแลรักษา ไม่ให้มีการใครเข้ามาบุกรุก ใครเข้ามารื้อถอนทำลาย จึงนำมาสู่การเซ็น MOU ร่วมกันระหว่างกรมธนารักษ์กับองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นที่นี่ ที่จะช่วยกันดูแล แล้วก็สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดต่อประเทศไทยคือ ที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีความสมบูรณ์มีความสวยงาม ประชาชนในพื้นที่ มีรายได้เสริมจากการขายสินค้าเกษตร
ที่นี่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ปลูกผลไม้ต่างๆได้มากมาย มีการปลูกผลไม้ อาทิ ส้มโอ , ทุเรียน ,หน่อไม้ อยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวศรีมโหสถปราจีนบุรีมาร่วมกันอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของเมืองศรีมโหสถเอาไว้ให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต”นายพิบูลย์ กล่าว
ด้านนายสด แดงเอียด ผู้ทรงคุณวุฒิ(อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากรและอธิบดีกรมการศาสนา ) กล่าวว่า “หากพัฒนาคูเมือง-กำแพงเมืองศรีมโหสถแล้ว จะเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงความสำคัญเมืองศรีมโหสถในอดีตได้ดี ว่าเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางทางผ่านจากโลกตะวันตก,จากอินเดียสู่กัมพูชาและจีน ที่หลังจากนักท่องเที่ยว เที่ยวธรรมชาติอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว ยังได้มาท่องเที่ยวครบกับเมืองท่าในอดีตและเมืองแห่งพระพุทธศาสนา”นายสดกล่าว
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/