อดีต ส.ส.เสนอยกฐานะ”นครศรีธรรมราช”เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

อดีต ส.ส.เสนอยกฐานะ”นครศรีธรรมราช”เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร

       ดร.รงค์ เสนอนครศรีฯ ต้องบริหารจัดการในรูปแบบท้องถิ่นพิเศษเท่านั้น ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งถึงจะแก้ปัญหาได้

       ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อดีต สส.นครศรีฯ เสนอยกฐานะนครศรีธรรมราช เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สอดรับกับข้อเสนอ #นายหัวไทร ซึ่งแย้งกับข้อเสนอของ สุธรรม จริตงาม สส.นครศรีฯ พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอให้แยกจังหวัดนครศรีฯ ไปจัดตั้งจังหวัดทุ่งสง “ท่ามกลางบริบทของโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางความอ่อนแอของการบริหารราชการภูมิภาค การบริหารจัดการที่เหมาะสม คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ”

         องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลางที่ไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน

         ดร.รงค์ กล่าวย้ำว่า นครศรีธรรมราชจะต้องจัดการบริหารในรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เหมือนกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนี้มีการเสนอแนะในโลกของการประชุมทางวิชาการในสถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักรัฐประศาสนศาสตร์ สื่อมวลชน ซึ่งภาคประชาสังคมในขณะนั้นเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งหมายถึงการเลือกตั้ง และจัดการบริหารท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษนั้นเอง

         ดร.รงค์ กล่าวอีกว่า เหตุที่ยังไม่เกิด เพราะความพร้อมยังไม่เหมาะสม “วันนี้ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงนครศรีธรรมราช จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากการจัดการบริหารในรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเท่านั้น”

          ดร.รงค์ สะท้อนว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 ในภาคใต้มีพรรคการเมืองรณรงค์ให้มีการจัดการบริหารแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษอยู่ 4 แห่ง คือ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต หาดใหญ่ และเกาะสมุย โดยการยกฐานะเป็น “มหานคร”

          มหานครเหล่านี้ต้องจัดการบริหารในรูปแบบพิเศษเท่านั้น และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย “ถ้าเป็นไปได้ สภาฯยกร่างกฎหมายขึ้นมาให้มีการถกเถียงกัน”

          ดร.รงค์ กล่าวอีกว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ ทางเลือกทางเดียวเท่านั้นที่จะเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงในท่ามกลางผู้ว่าฯ นายอำเภอ ราชการส่วนภูมิภาคที่อ่อนแอ ไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน ฝนตก น้ำท่วม โครงการสร้างพื้นฐาน การเกษตร การส่งเสริมอาชีพ องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถตอบสนองตรงนั้นได้ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมเติมต่อการจัดการน้ำ การดูแลประชาชนที่หลากหลาย มีภูเขา มีผลไม้ มีนา มีการเกษตร มีประมง การบริหารจัดการในรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือเครื่องมือที่มีประสิทธิ์ภาพในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!