สถ. ร่วมแถลงผลสำเร็จโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาด

สถ. ร่วมแถลงผลสำเร็จโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาด

ภาพ/ข่าว:วีรพล จ้อยทองมูล

         สถ. ร่วมแถลงผลสำเร็จโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาด เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก

           เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมแถลงผลสำเร็จโครงการเตรียมความพร้อมด้านกลไกตลาด เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก (Thailand Partner Ship for market Readiness) หรือโครงการ (PMR) ซึ่งเป็นโครงการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ร่วมกับ นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และนางสาววราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอาวุโส ธนาคารโลก เพื่อนำเสนอผลการศึกษาการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกลไกการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม Energy Performance certificate Scheme หรือ EPC หรือกลไกส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับเทศบาล เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ Low Carbon City Program หรือ LCC และการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย สำหรับการดำเนินกลไกซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมนำร่อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ณ ห้อง อินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร
           นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ ท้องถิ่น คือ ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดน้ำท่วมที่รุนแรง การเกิดภัยแล้งที่ยาวนาน การเกิดวาตภัย หรืออากาศที่ร้อนจัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหามาจากการที่เรามีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการใช้ไฟฟ้าที่ต้องผลิตจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ การใช้รถประเภทต่างๆ ที่มีการเผาไหม้ของน้ำมัน หรือการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ไม่ถูกวิธีที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง ซึ่งภาคเมืองเป็นภาคส่วนสำคัญที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน
          ในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มมีความตื่นตัวในการที่จะพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ และให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคขยะและของเสีย ภาคธุรกิจและบริการ ภาคราชการ ภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคขนส่ง ซึ่งแต่ละภาคส่วนมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริบทของเมืองนั้นๆ ซึ่งทุกวันนี้การลดก๊าซเรือนกระจกในระดับเมืองได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า “เมืองคาร์บอนต่ำ” หรือ “Low Carbon City” สำหรับประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ อบก. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้ ด้านการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรียกว่า Carbon Footprint for Organization หรือ CFO และการรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง ที่เรียกว่า City Carbon Footprint หรือ CCF ให้แก่ อปท. เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ
            นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กรมฯ ยังได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ อบก. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลปริมาณขยะเปียกจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และจังหวัดยโสธร , ภาคกลาง จังหวัดลพบุรี และภาคใต้ จังหวัดสงขลา โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ครัวเรือน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัด อปท. เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณมากกว่า 300,000 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 31,579,947 ต้นและจะได้นำไปรับรองคาร์บอนเครดิตต่อไป ซึ่งสำหรับผลการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนในขณะนี้ มีครัวเรือนที่มีถังขยะเปียกแล้ว 10,260,331 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 57.40% ของครัวเรือนทั้งหมด และมีการจัดการด้วยวิธีอื่นอีก 6,637,267 ครัวเรือน หรือ 37.13% ทำให้ในภาพรวมมีครัวเรือนที่มีการจัดการขยะเปียกรวม 17,425,039 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.48 ของครัวเรือนทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งจังหวัดที่มีการดำเนินการครบ 100% แล้ว มีจำนวน 45 จังหวัด
             นอกจากนี้ อบก. ยังมีการดำเนินโครงการ Low Carbon City Program หรือ LCC ภายใต้โครงการ PMR ของธนาคารโลก ซึ่งได้เข้ามาสนับสนุนทางด้านเทคนิคในการจัดทำรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง การศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการพัฒนาแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเมืองในการลดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์อื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งการลดการใช้พลังงาน การจัดการขยะและของเสีย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง
              ก็ต้องขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่ช่วยทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของประเทศ ในการสร้างสภาวะแวดล้อมของโลกเราให้ดีขึ้น และขอให้ทั้ง 25 เทศบาลที่เข้าร่วมเป็นโครงการต้นแบบ และให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ช่วยมุ่งมั่นขยายสิ่งที่ดีงามไปยัง อปท. อื่นๆในพื้นที่จังหวัด และในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง ก็จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนบริหารจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อม ให้ครบทั้ง 7,851 อปท. ทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้อยู่ในโลกที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป นายสุทธิพงษ์ กล่าว

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!