“วัชระ” ยื่น ป.ป.ช.ให้ทบทวน ไม่รับเรื่องทุจริตสภา 500 ล้าน 1,000 ล้าน

“วัชระ” ยื่น ป.ป.ช.ให้ทบทวน ไม่รับเรื่องทุจริตสภา 500 ล้าน 1,000 ล้าน

ภาพ-ข่าว:

“ชี้คนพูดเป็นถึงประมุขนิติบัญญัติ ติงอย่าเป่าคดี”

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ปปช.ทุกคนเพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหากรณีขอแจ้งเบาะแสการทุจริตเงินตก 2 ก้อนใหญ่ (500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท) จากงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 12,280 ล้านบาทไว้พิจารณา

           นายวัชระ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีที่สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหาการทุจริตเงินงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ว่ามีการรับเงินใต้โต๊ะ (เงินตกหล่น) จำนวน 2 ก้อนใหญ่ จำนวน 500 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท ไว้พิจารณานั้น ตนในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะผู้ร้องเรียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำสั่งดังกล่าว และขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณาเนื่องจากเหตุผลดังนี้
           1. ผู้พูดเรื่องเงินตกหล่นคือ นายสมชาย แสวงการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อภิปรายในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ในการพิจารณางบประมาณว่า “มีเงินตก 2 ก้อนใหญ่เงินจำนวนมากตกไปกับผู้ที่รับไปแล้ว หลักร้อยและหลักพันครับ ใครรับไปผมไม่มีใบเสร็จ แต่ข้อมูลนี้รับทราบกันดีในหมู่สมาชิกสภาชุดที่แล้ว ก็เรียนให้เป็นข้อมูล” ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมหน้า 182-186 และศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ พูดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ในพิธีมอบหมายนโยบายการบริหารราชการของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อหน้าคณะผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนำโดยนายจเร พันธุ์เปรื่อง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 ว่า “ผมก็เลยไปเอาสัญญามาดู เอามาดูก่อนที่ท่าน สนช.สมชายจะอภิปรายเมื่อวันก่อนว่ามีเงินตกหล่นอยู่ 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท และมอบให้ผมไปควานหา ผมจะไปหาที่ไหน ผมก็เลยต้องตรวจดูสัญญา ผมไม่เห็นมีสัญญาที่ไหนแย่เท่าฉบับนี้” ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุม ซึ่งทั้งสองท่านพูดในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามลำดับ

            2. กรณีไม่ปรากฏพยานเอกสารตามหนังสือนางดารณี ธรเสนา ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอ้างนั้นย่อมมิใช่เป็นหน้าที่ของผู้ร้องเพียงเท่าที่ท่านกล่าวอ้าง หากแต่เป็นอำนาจหน้าที่หลักของ ป.ป.ช.ที่มีอำนาจเรียกพยานเอกสารธุรกรรมทางการเงินของบุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าในห้วงระยะเวลาดังกล่าวมีการถอนเงินสดหรือเช็คหรือแคชเชียร์เช็คเป็นจำนวนมากจากธนาคารใดบริษัทใดไปจ่ายให้กับผู้ใด ท่านเป็น ป.ป.ช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมพึงรู้ถึงอำนาจหน้าที่การตรวจสอบดังกล่าวดีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าแนบหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0020/1840 ลงวันที่ 31กรกฎาคม 2567 มาให้ท่านดูว่าเป็นเรื่องเศร้าเพียงใดที่ ป.ป.ช. ไม่ตรวจสอบการทุจริตเงินหล่นจำนวน 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท

            3. จึงย่อมมีมูลเหตุการแจ้งเบาะแสการทุจริตเพียงพอและความปรากฏแก่ ป.ป.ช. แล้วจึงเป็นกรณีที่ ป.ป.ช. พึ่งพิจารณารับเรื่องไว้ไต่สวนตามพันธกิจและวิสัยทัศน์และกฎหมายของ ป.ป.ช. จึงขอให้ ป.ป.ช.ทั้งคณะโปรดรับเรื่องไว้ไต่สวนหาความจริงหาคนทุจริตการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้ประเทศชาติต่อไป หากท่านละเว้นไม่สอบสวนเรื่องนี้ ตนจักขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายอาญาต่อไป

            4. กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณามีคำสั่งแทนไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา จึงขอทราบข้อเท็จจริงดังนี้ 4.1 ชื่อกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับมอบหมายคือท่านใด ทำไมวินิจฉัยแบบนี้ขัดกับพันธกิจและวิสัยทัศน์ของสำนักงาน ป.ป.ช. และกฎหมายของ ป.ป.ช. หรือไม่ 4.2 พยานบุคคลที่เป็นพยานบอกเล่า ป.ป.ช. ได้เชิญมาให้ถ้อยคำหรือไม่ อย่างไร สอบสวนให้สิ้นกระบวนการอย่างครบถ้วนของ ป.ป.ช.แล้วหรือยัง 4.3 ป.ป.ช. ได้เชิญศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย และนายสมชาย แสวงการ มาให้การหรือไม่ หากสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่ได้เรียกพยานบุคคลหรือท่านระบุว่าเป็นพยานบอกเล่ามาให้ข้อมูลหรือถ้อยคำขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการรับเรื่องไว้ไต่สวนเพื่อค้นหาความผิดปกติเช่นเดียวกับกรณีจับอัยการฉาวรีดเงิน 2 แสนบาท ส่อทุจริตที่สำนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชวิ่งคดี เลขาธิการ
           สำนักงาน ป.ป.ช. ยังลงทุนลงแรงนั่งเครื่องบินไปจับอัยการ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีทุจริตค่าอาหารกลางวันนักเรียน วงเงินความเสียหายไม่สูงแต่ ป.ป.ช. จริงจังเอาเป็นเอาตาย แต่เรื่องกล่าวหาทุจริตเงินหล่น 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาทนี้ ป.ป.ช. กลับเพิกเฉยเป่าทิ้งปัดทิ้ง ไม่จริงจังเหมือนการปราบปรามข้าราชการเล็ก ๆ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น ข้าราชการบ้านนอกที่ไม่มีเส้นสายไม่เคยเข้าหลัก สูตร นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) หรือไม่ใช่เป็นนักการเมืองชั้นผู้ใหญ่ที่มีเส้นสายสนิทสนมกับ ป.ป.ช. ขนาดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียังเคยพูดกรณี พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้องเรียนกับ ป.ป.ช. กล่าวหานายเศรษฐา ทวีสิน ผิดมาตรา 157 ว่า “เรื่องของ ป.ป.ช. เดี๋ยวไปวิ่งเอา” รวมทั้งที่ผ่านมามีข้าราชการที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแต่ศาลปกครองหรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบยกฟ้องเป็นจำนวนมาก ป.ป.ช. เคยเยียวยาชื่อเสียงเกียรติยศให้กับข้าราชการผู้บริสุทธิ์ที่ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดหรือไม่

           5. เมื่อเทียบเคียงกรณีคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ไปประชุมเรื่องการทุจริตที่ต่างประเทศเพียงแค่ได้ยินว่ามีการทุจริตติดสินบนโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้านบาทในที่ประชุมเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดใด ๆ เมื่อกลับประเทศไทยยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและฟ้องศาลในที่สุด แต่กลับไม่ฟ้องบริษัทและบุคคลผู้ติดสินบนแต่ประการใด ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทเดียวกันนี้เป็นคู่สัญญาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบที่มีมูลเหตุร้องเรียนนี้และเป็นพฤติการณ์เจือสมที่เคยปฏิบัติมาก่อนตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. คดีหมายเลขดำที่ 07-3-619/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 308-3-50/2562 ใช่หรือไม่

            ดังนั้น ตนชี้ช่องทางให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงระหว่างการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 (ปีงบประมาณ 2556) แม้แต่เรื่องส่อทุจริตที่เพียงปรากฏข่าวตามหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ป.ป.ช. ยังหยิบยกมาสอบสวนซึ่งโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ก็เป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างยิ่งเพราะใช้เงินงบประมาณค่าก่อสร้างสูง 12,280 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างรวมขยายสัญญา 2,764 วัน จนถึงวันนี้ (14 สิงหาคม 2567) รวมเวลา 4,054 วัน การก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากงานก่อสร้างผิดแบบหรือสเปค ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญา มีการงดค่าปรับและตรวจรับมอบงานทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา ในอดีตที่ผ่านมามีเรื่องอื้อฉาวไม่น้อยกว่า 20 เรื่องที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องส่อทุจริตกับสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว ทั้งนี้ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. กันข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานและข้าพเจ้ายินดีมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมด้วยตนเองโดยเร็วที่สุด

            อนึ่ง ตนขอขอบคุณศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย และนายสมชาย แสวงการ ที่แจ้งเบาะแสการทุจริตเงินตก 2 ก้อนใหญ่ (500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท) จากงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 12,280 ล้านบาท โดยนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณชนกลางที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติและบุคคลในวงงานรัฐสภาอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา บันทึกไว้เป็นเอกสารราชการเป็นประวัติศาสตร์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเข้มแข็งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ทุกประการ

            ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรนำในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและได้รับความเชื่อมั่น” และพันธกิจ “บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” อย่ามุ่งเอาผิดข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือข้าราชการบ้านนอกที่ไม่มีเส้นสายหรือเอาเป็นเอาตายกับข้าราชการที่ไม่รู้กฎหมาย แต่กับนักการเมือง รัฐมนตรี ผู้มีอำนาจกลับปัดทิ้งหรือปล่อยให้ขาดอายุความดังที่เคยปรากฏมาก่อนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนในหลายกรณีมาแล้ว นายวัชระ กล่าวทิ้งท้าย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!