เชียงใหม่-กรมหม่อนไหม MOU กรมราชทัณฑ์ ส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหม

เชียงใหม่-กรมหม่อนไหม MOU กรมราชทัณฑ์ ส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหม

ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดเชียงใหม่

       กรมหม่อนไหม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับกรมราช ทัณฑ์ ส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหม แก่ผู้ต้องขัง สร้างโอกาส สร้างรายได้ คืนคนดีสู่สังคม
        วันนี้ (21 ส.ค. 67) ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม กับนายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา และผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริม แนะนำ การประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม ในเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อพัฒนาให้ผู้ต้องขังได้มีความรู้ นำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมในสังคมภายนอกได้ปกติสุขภายหลังพ้นโทษ และเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้บุคลากรทั้งสองฝ่ายสามารเข้าถึงและใช้ข้อมูลได้โดยง่าย โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี นับแต่วันลงนาม
        อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ควรจะทำต่อเนื่องกัน เป็นการสนองพระราชดำริด้วย 2 โครงการ คือโครงการกำลังใจ และโครงการคืนคนดีสู่สังคม เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราจะร่วมกันตลอดไป และมีแนวคิดที่เหมือนกันกับกรมราชทัณฑ์ คือหลังจากผู้ต้องขังพ้นโทษไปแล้ว จะต้องมีการไปติดตามต่อเนื่อง ว่าพอออกไปแล้วเขาสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ไหม เพราะในทัณฑสถานมีเครื่องไม้เครื่องมือให้พร้อม แต่พอเวลาไปอยู่ที่บ้านไม่มี ก็ต้องเข้าไปดูเข้าไปส่งเสริมเพื่อให้เขาอยู่ได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข”
         ทางด้านรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา กล่าวเสริมว่า “เราเองมีความพยายามที่จะให้มีการส่งเสริมทุกที่ โดยขณะเดียวกันจะมีการจัดการประกวดในเรื่องของผ้าไหม แข่งลวดลายต่าง ๆ แล้วก็จะให้ทางกรมหม่อนไหมเป็นกรรมการ เข้ามาช่วยดู ก็จะเป็นเรื่องที่จะทำให้ผู้ก้าวพลาดที่อยู่กับเรา ได้มีทักษะไปทั่วประเทศ ในเรื่องของการพัฒนาผ้าไหม”
           ทั้งนี้กรมหม่อนไหมและกรมราชทัณฑ์ ได้ทำ MOU ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประ โยชน์ และผลงานของผู้ต้องขังได้รับการยอมรับเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งได้รับรางวัลการันตีมากมาย ซึ่งการส่งเสริมวิชาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมสีเส้นไหม การทอผ้าไหม การออกแบบตัดเย็บผ้าไหม ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลหม่อนและจากผ้าไหม จึงเกิดประโยชน์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่งผลให้ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ
         ปัจจุบันมีเรือนจำ ทัณฑสถาน ที่ดำเนินการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม จำนวน 33 แห่ง โดยมีการดำเนินงานแบบครบวงจร 5 แห่ง ได้แก่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง ทัณฑสถานเกษตรอุตสาห กรรมเขาพริก เรือนจำจังหวัดลำพูน และเรือนจำกลางนครปฐม

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!