อยุธยา-ที่ปรึกษา รมว.สธ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ภาพ-ข่าว นราเอก ตันศิริ : นพดล บำเพ็ญสัตย์
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่อยุธยาตรวจเยี่ยมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย อำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย คุณณัฐณิชา บุรณศิริ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิดีกรมอนามัย นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 4,นพ.ปรีชา เปรมปรี สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 4 นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา,
นพ.เศกสรรค์ ชวนะดีเลิศ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิสัย ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย ตำบลกุฎี และ ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ ตำบลน้ำเต้า ตำบลวัดตะกู อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สถานการณ์ปัจจุบัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี 7 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประกอบด้วย อำเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางปะหัน บางบาล บางไทร บางปะอิน และ พระนครศรีอยุธยา 71 ตำบล 339 หมู่บ้าน 10,028 ครัวเรือน และประชากรที่ได้รับผลกระทบ 29,071 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดฯ ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางอำเภอและตำบลยังคงมีน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ต่ำ
สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 เพื่อติดตามสถาน การณ์และประเมินผลกระทบพร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ทุกวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม อาทิ โรคฉี่หนู ตาแดง ไข้เลือดออก รวมถึงดูแลสุขอนามัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย มีการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณ สุขเคลื่อนที่ระหว่างเกิดอุทกภัย
อาทิเช่น หน่วยแพทย์แผนไทยคลายทุกข์ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต(MCATT)โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ ให้แก่ อำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชุดยาตำราหลวง จำนวน 650 ชุด ยาน้ำกัดเท้า (Whitfield’s ointment 15 g) 19,150 ตลับ รองเท้าบูท(สั้น/ยาว) จำนวน 169 คู่ และยาทากันยุง จำนวน 21,000 ซอง
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกสถานการณ์ด้วยการสนับสนุนทั้งด้านการแพทย์และการดำรงชีวิตในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้กระทรวงสาธารณสุข ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างปลอดภัย“กระทรวงสาธารณสุขไม่ทิ้งประชาชน”