กาญจนบุรี-เจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมแสดงความยินดีประธานป่าชุมชนป่าบ้านหนองหินได้รับรางวัล”ลูกโลกสีเขียว”

กาญจนบุรี-เจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมแสดงความยินดีประธานป่าชุมชนป่าบ้านหนองหินได้รับรางวัล”ลูกโลกสีเขียว”

ภาพ-ข่าว:รักษพล พุ่มพฤกษ์

        วันที่ 14 กันยายน 2567 นาย ชนะศักดิ์จันทาสูงเนิน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการป่าไม้จังหวัดกาญจนบุรี น.ส.พัชรินทร์ ขุนณรงค์ เจ้าหน้า ที่ศูนย์ป่าไม้จังหวัดกาญจนบุรี นายวุฒิกร อินทรกุล เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ในงานเลี้ยงชุมชนป่าบ้านหนองหิน หลังได้รับรางวัล ลูกโลกสีเขียว ระดับชุมชน ครั้งที่ 22 บริเวณศาลากลางหมู่บ้านหนองหิน โดยมี ดร. รหัส แสงผ่อง ประธานป่าชุมชนบ้านหนองหิน คุณ ธันญา กาญจนประดิษฐ์ นายวรรณวิเศษณ์ กาญจนประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่1ตำบลเขาสามสิบหาบ และเจ้าหน้าที่รักษาป่าชุมชนบ้านหนองหินให้การต้อนรับ
          รางวัลลูกโลกสีเขียวมอบให้แก่บุคคลและชุมชนที่รักษา ดิน น้ำ ป่า ซึ่งป่าเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่ดีที่สุด ดังนั้นการฟื้นฟู รักษาและปลูกป่าเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโลก ขณะเดียวกัน ปตท. ได้เร่งดำเนินธุรกิจ ให้มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2050 ด้วยการมุ่งเน้นในมิติต่าง ๆ 3 ด้าน คือ เร่งปรับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เร่งเปลี่ยน เพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน และ เร่งปลูก เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนไทย ช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และประสานความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มพื้นที่ป่า รวม 2 ล้านไร่ ซึ่งหวังว่าการดำเนินงานต่าง ๆ จะช่วยแก้ไขและร่วมบรรเทาวิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้”
          “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2542 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเป็นกำลังใจยกย่องและเผยแพร่การอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบุคคล กลุ่มคน และเยาวชน ให้เป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง ด้วยความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน นักอนุรักษ์ นักวิชาการ นักเขียน สื่อมวลชน ฯลฯ ปัจจุบันมีผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวแล้ว 807 ผลงาน

             ประวัติการเป็นมาป่าชุมชนบ้านหนองหิน ป่าชุมชนบ้านหนองหิน-เขาสูง จังหวัดกาญจนบุรี ตำนานคนเฝ้าป่า ร่วมกันรักษาป่าไข่แดงบนเขาสูง ป่าชุมชนบ้านหนองหิน-เขาสูง พื้นที่ 895 ไร่ เป็นป่าในเมืองบนเขาที่ล้อมรอบด้วยที่อยู่อาศัยและพืชเศรษฐกิจ เหมือน “ไข่แดง” ตรงกลางขนาบด้วยพื้นที่ราบทางการเกษตร ซึ่งต้องเผชิญกับสภาพเสื่อมโทรมจากการใช้ประโยชน์อย่างไม่มีการควบคุม ป่าที่เคยสมบูรณ์กลายเป็นภูเขาหัวโล้น สูญเสียศักยภาพในการซับและกักเก็บน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ชุมชนจึงรวมตัวกันปิดป่า วางระเบียบกติกาการใช้ประโยชน์ จัดเวรยามทุกบ้านเพื่อป้องกันการบุกรุกและตัดไม้ทำลายป่า ทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูและคืนสภาพป่า ทั้งการบวชป่า ปลูกป่า และสร้างฝายชะลอน้ำ ช่วยกักเก็บน้ำไว้บนภูเขาโดยใช้ฝายกั้นเป็นระยะๆ ตามสภาพพื้นที่ ตั้งกลุ่มสิงห์เฝ้าป่าที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายกลุ่ม หลายช่วงวัย ซึ่งเสียสละและทุ่มเทร่วมกันเป็นผู้นำในการรักษาป่า ปัจจุบันป่าเปลี่ยนสภาพจนเห็นได้ชัด จากเขาหัวโล้น กลายเป็นป่าที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น มีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัยและหากินเพิ่มขึ้น ป่ายังช่วยสร้างสมดุลน้ำ จากปริมาณน้ำที่ไม่พอใช้ เปลี่ยนเป็นมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี
             ชุมชนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ก๋งชุ้น กาญจนประดิษฐ์ (นายชุ้น แซ่ลิ้ม) เป็นคนจีนที่เดินทางเข้ามาจับจองพื้นที่ดินจำนวนมากที่ตำบลเขาสามสิบหาบ โดยตั้งบ้านเรือนและครอบครัว รวมทั้งผู้ติดตามได้เข้ามาทำกิน และสามารถรวบรวมชาวบ้านที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน เพื่อป้องกันโจรที่ออกปล้นในพื้นที่หนองหินอยู่บริเวณด้านล่างของหนองน้ำ เมื่อขุดลงไปจะมีหินกลมๆ ก้อนใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านหนองหินมีน้ำใสเหมาะแก่การใช้อุปโภคบริโภค หน้าน้ำหลากจะมีปลามารวมกันในหนองน้ำแห่งนี้จำนวนมาก ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา บางส่วนเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาและเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตร และต่อมามีคลองชลประทานผ่านหมู่บ้าน ซึ่งทำให้พื้นที่เหมาะแก่การทำเกษตรทุกประเภท การติด ต่อคมนาคมกับพื้นที่อื่นๆ เป็นไปด้วยความสะดวก สามารถติดต่อเดินทางได้ตลอดฤดูกาล อาชีพหลักทำการเกษตรส่วนอาชีพรองเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป
           สภาพป่าชุมชนบ้านหนองหิน-เขาสูง แบ่งเป็นชนิดป่า 2 ชนิด คือ 1. ป่าเต็งรัง พบทั่วไปตามภูเขาสูง ดินมักเป็นดินลูกรังผสมหิน มีสีค่อนข้างแดง เป็นภูเขากึ่งดินปนหินใหญ่ สภาพอากาศแห้งแล้ง ลักษณะป่าที่พบเป็นป่าโปร่ง มีไม้ขนาดกลาง เพราะเคยผ่านการถูกบุกรุกตัดฟันไม้มาแล้ว พันธุ์ไม้ที่พบเห็นในป่าชนิดนี้ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง งิ้วป่า มะม่วงหัวแมลงวัน มะขามป้อม หญ้าที่มักเห็น ได้แก่ หญ้าคอมมิวนิสต์ เป็นต้น 2. ป่าเบญจพรรณ ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ประกอบด้วย ไม้ขนาดกลางเป็นจำนวนมาก มีไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่มากมาย มีการผลัดใบในฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนจะแตกใบขึ้นมาใหม่ มีพันธุ์ไม้ขึ้นปะปนกันหลายชนิด ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ แดง มะค่าแต้ มะค่าโมง ไผ่ป่า ไผ่รวก เป็นต้น

           ปัญหาและอุปสรรคที่นำไปสู่การจัดการ สภาพป่าบ้านหนองหินเสื่อมโทรมลงและหมดไป จนมีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เกิดจากการตัดไม้ไผ่ขาย และตัดไม้ไปเผาถ่านขายของชาวบ้าน จนเกิดปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำใช้ในการทำเกษตร น้ำบาดาลในหมู่บ้านแห้ง ประมาณปี พ.ศ. 2526 นายประสาท กาญจนประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ได้เริ่มอนุรักษ์และเล็งเห็นความสำคัญของป่าชุมชน โดยการปิดป่า ห้ามตัดไม้ทำลายป่า มีการแบ่งเวรยามเฝ้าดูแลป่า บ้านละ 1 คน (วันละ 4 – 5 หลังคาเรือน) ผู้นำสมัยนั้น มองว่าหากไม่อนุรักษ์ต้นไม้เหล่านั้นไว้ ก็จะไม่เหลืออีก เกรงว่าลูกหลานในอนาคตคงจะไม่รู้จักป่า ไม่รู้จักต้นไม้ จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ชุมชนบ้านหนองหิน-เขาสูง ได้รวมกลุ่มทำสัญญาประชาคมร่วมกันว่าจะอนุรักษ์ผืนป่าหนองหิน – เขาสูง ให้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานตลอดไป
           กิจกรรมสำคัญ ได้แก่การสร้างฝายชะลอน้ำ ช่วยกักเก็บน้ำไว้บนภูเขา จากสภาพป่าที่แห้งแล้ง พันธุ์ไม้ไม่มีความหนาแน่น และมีการชะล้างหน้าดินสูง การทำฝายชะลอน้ำจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการชะลอและกักเก็บน้ำไว้ ผลการสร้างฝาย จากเมื่อก่อนน้ำประปาในหมู่บ้านแห้งทุกปี น้ำไม่พอใช้ เปลี่ยนเป็นมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี บ่อน้ำประปาไม่เคยแห้งอีกเลย การตั้งกลุ่มสิงห์เฝ้าป่า จัดเวรยามทุกบ้าน ตั้งแต่บ้านเลขที่ 1 จนบ้านเลขที่สุดท้าย ครั้งละ 5 คนต่อวัน การดูแลรักษาพื้นที่ป่าเป็นหน้าที่ของกลุ่มอาสาสมัครหมู่บ้าน และชาวบ้านโดยรอบช่วยกันสอดส่องดูแลและแจ้งเหตุในการกระทำผิดในพื้นที่ป่าชุมชน สร้างเครือข่ายแนวร่วมในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นกำลังสำคัญในการระวังไฟป่า
          โดยการลาดตระเวน ทำแนวกันไฟเป็นบล็อก ซึ่งเป็นระบบที่มีประ สิทธิภาพ สามารถควบคุมไฟได้รวดเร็วทันสถานการณ์ ชุมชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด มีจิตอาสาระดมทุนในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลป้อง กันการบุกรุกทำลายป่าชุมชน เป็นการดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่องของชุมชน ในปี พ.ศ. 2562 มีการจัดตั้งป่าชุมชนขึ้นอย่างเป็นทางการ ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ ดำเนินการจัดการพื้นที่ป่าชุมชนอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนพร้อมทั้งออกกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านขึ้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!