ประจวบคีรีขันธ์-จัดกิจกรรมเดินแบบ ผ้าไทยใครใส่ก็สวย สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
ภาพ/ข่าว: เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 19 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดกิจกรรมเดินแบบ “ผ้าไทยใครใส่ก็สวย” ซึ่งจัดขึ้นภายในงานท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ มหัศจรรย์เมืองสามอ่าว และงานกาชาดประจำปี พ.ศ.2567 ณ บริเวณเวทีกลางการจัดงาน สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9หน้าศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยมีนายดำรงค์ มากระจัน พัฒนาการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม มีนายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางสาวมาเรีย เผ่าประทาน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติในกิจกรรมและร่วมเดินแบบผ้าไทย โดยภายในกิจกรรมเป็นการจัดกิจกรรมเดินแบบผ้าไทยลวดลายเนื้อผ้าต่างๆของแต่ละท้องถิ่น โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนแต่ละอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ ส่งนางแบบแต่ละช่วงวัยเข้าร่วมเดินแบบตามสไตล์ของรูปแบบผ้าไทยลายต่างๆ
นายดำรงค์ มากระจัน พัฒนาการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเดินแบบผ้าไทยในวันนี้ เป็นการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใครใส่ก็สวย”ประจำปี พ.ศ.2567 และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส รวมถึงสนับสนุนผ้าพื้นเมืองของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการสร้างกระแสการสวมใส่ผ้าที่ผลิตจากชุมชน สร้างการรับรู้ และส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงประชาสัมพันธ์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประธานในพิธี กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานผ้าถิ่นไทย และ สืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย รวมถึงเพื่อสนองแนวพระราชดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงนำแนวคิดมาพัฒนาสร้างสรรค์ ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย และประทานลายผ้าพระราชทาน รวมถึงแนวคิดเรื่อง Sustainable Fashion ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น และแนวทางการออกแบบที่นำสมัยให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายของผืนผ้าที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไทย