ชลบุรี-ชมรมชาวใต้ศรีราชา จัดงานบุญธรรมเนียมสารทเดือนสิบ
ภาพ-ข่าว:นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี
“ไฮไลท์ของงานชิงเปรตพร้อมชิมอาหารรสชาติปักษ์ใต้”
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 กันยายน 2567 ที่ วัดจุกกะเฌอ ต.บึง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้มนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ พร้อมด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
นายนิพล คงพรหม รายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ประธานชมรมชาวใต้ศรีราชา กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงาน โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี พลเรือเอกอาภากร อยู่คงแก้ว นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง ร่วมในพิธีเปิดงาน
โดยในงานมี มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนที่ขาดแคลน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดจุกกะเฌอจำนวน 40 ทุน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเขาชี 15 ทุนและโรงเรียนวัดเขาฉลาก 15 ทุนและโรงเรียนวัดพันเสด็จนอก 15 ทุนรวมทั้งสิ้น 85 ทุน พร้อมชมขบวนแห่หมรับ พิธีชิงเปรต และร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น แกงเหลือง คั่วกลิ้ง แกงไตปลา ไก่ต้มขมิ้น เป็นการสืบสานและอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมภาคใต้ ทั้งด้านการแสดง และอาหารพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับประเพณี “สารทเดือนสิบ” เป็นงานประเพณี หรืองานบุญที่มีรูปแบบกิจกรรมที่เป็นศูนย์รวมของพี่น้องน้องชาวใต้ และถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของการร่วมทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ หรือบรรพบุรุษ
ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการร่วมสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำถิ่นให้คงไว้ในสังคมไทยให้คงอยู่แล้ว ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวใต้ และครอบครัวที่อาศัยอยู่ใน จังหวัดชลบุรี และใกล้เคียงได้ร่วมกันทำกิจกรรม เพื่อเผยแพร่ประเพณีพื้นบ้านของชาวใต้ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
โดยพิธีชิงเปรตนั้น จะเริ่มขึ้นหลังจากเสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้ว ก็จะนำขนมบางส่วนไปวางไว้บนแท่นกลางลาน เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศล ให้เป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญได้รับอาหารที่วางไว้ แล้วจะนำสายสิญจน์ที่ได้บังสุกุลแล้ว มาผูกเพื่อแผ่ส่วนกุศล
หลังจากนั้น ทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็จะมาล้อมแท่นที่วางอาหารไว้ ก่อนจะเข้าไปแย่งชิงกันอย่างสนุกสนานคึกคัก บางคนที่มาใช้ ทั้งทาด กล่อง เพื่อรอรับของ แล้วนำมาแบ่งกันกิน เพราะความเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หากได้ไปกินก็จะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคล หลังจากนั้น มีการแข่งขันปีนเสาน้ำมัน แย่งชิงธงกัน เป็นที่สนุกสนานให้กับผู้ที่มาร่วมในพิธีเป็นอย่างมาก