สกลนคร-ชาวบ้านโนนสะอาด ลงมติไม่เห็นด้วยทุนจีนสร้างโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราติดวัดป่า
"บุกยื่น “เอกนัฐ” ยืนยันผลกระทบสิ่งแวดล้อม"
ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 นายประสิทธิ์ โคตรปัญญา ผู้ใหญ่บ้านพุทธรักษา หมู่ที่ 5 อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร และนายสิน อินทรสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรจังหวัดสกลนคร ได้เดินทางเข้าพบนายเอกนัฐ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือ และยื่นหนังสือร้องเรียน คัดค้านการดำเนินการก่อสร้างโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราของบริษัทเอกขนแห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างใกล้วัดและชุมชน ปัจจุบันกำลังดำเนินการนำเครื่องจักรกล เข้าปรับพื้นที่ก่อสร้าง
ซึ่งหากมีการคำเนินการสร้างเสร็จสิ้นจะสร้างความเดือดกับวัดและชุมชุมเป็นอย่างมาก ทั้งปัญหาเรื่อง ฝุ่นละออง กลิ่นของขี้เลื่อย เสียงที่ดังจากการเลื่อยไม้ และยังมีปัญหาปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะวัดบ้านพุทธรักษา ซึ่งเป็นสถานที่วิปีสนากรรมฐานของพระสายองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบ้านในชุมชน ได้รับผลกระทบจากความเดือดร้อนและผลกระทบเป็นอย่างมาก
นายประสิทธิ์ โคตรปัญญาและนายสิน อินทรสิทธิ์ ตัวแทนชาวบ้านพุทธรักษาและตัวแทนประชาชนตำบลโนนสะอาด จึงขอร้องเรียนและขอความอนุเคราะห์ จากท่านรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ยับยั้งและขอให้ยุติการก่อสร้างโรงงานอุตสาหะกรรมแปรรูปไม้ยางพาราแห่งนี้ด้วย จากการทำประชาคมชาวบ้านใกล้เคียงและตำบลโนนสะอาดมีมติเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมไม้แปรรูป
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากปล่อยให้อนุญาตก่อสร้างโรงงานจะมีผลกระทบต่อพระฆงส์ที่เคยปฏิบัติข้อวัตรอย่างสงบจะกลายเป็นวัดร้างทันทีและอีกอย่างชาวบ้านไม่เห็นด้วยอย่างที่จะให้มีโรงงานเพิ่มอีก เพราะตำบลโนนสะอาดมีโรงงานปาล์มน้ำมันแล้วหนึ่งแห่งมีผลกระทบเรื่องกลิ่นและไม่สามารถแก้ไขได้
ด้านนายสิน อินทรสิทธิ์ กล่าวว่า ตัวเองเป็นลูกศิษย์วัดป่าพุทธรักษา วันสำคัญลูกศิษย์เจ้าอาวาสวัดมารวมกันปฏิบัติ 200-300 คน ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่โรงงานแปรรูปไม้จะมาตั้งใกล้วัดอย่างนี้ ตนเองจะสู้ให้ถึงที่สุด
ด้านนายประหยัด ธานะราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ตนเองได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความเหมาะสมแล้วไม่เห็นอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้โรงงานไม้แปรรูปก่อสร้างใกล้เขตต่อต่อวัดป่าแห่งนี้ นายประหยัดกล่าวทิ้งท้าย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในเวทีประชาคมผู้ประกอบการยืนยันว่า โรงงานแปรรูปไม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่ชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบจึงมีมติเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงงานแปรรูปไม้
ด้านผู้บริหารท้องถิ่น ได้พยายามหาข้อยุติต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เรียกตัวแทนคู่ขัดแย้ง ทั้งชาวบ้าน ลูกศิษย์วัด และผู้ประกอบการมาพูดคุยไกล่เกลี่ย แต่ชาวบ้าน ลูกศิษย์วัด ก็ยังยืนยันไม่เห็นด้วย ผู้ประกอบการก็ยังจะเดินหน้าก่อสร้าง โดยได้ยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)แล้ว แต่ อบต.ยังไม่อนุมัติโครงการก่อสร้าง
ด้าน ดร.นิยม เวชกามา พรรคเพื่อไทย เขต2 จ.สกลนคร ในฐานะผู้ ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล) กำกับ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมด้วย สส.เกษม อุประ พรรคเพื่อไทย เขต7 จ.สกลนคร เจ้าของพื้นที่ นายวัยพจน์ ปัญญะ เลขานุการส่วนตัว (ดร.นิยม เวชกามา)หลังได้รับการร้องเรียนจากคณะสงฆ์และชาวบ้านในพื้นที่เกิดข้อพิพาทมีการเตรียมก่อสร้างโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ที่มีพื้นที่รอยต่อติดกับวัดเกรงเกิดมลพิษต่อป่าชุมชน และระบบนิเวศโดยรอบเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำประโยชน์ร่วมกันสองหมู่บ้านระหว่างบ้านพุทธรักษากับบ้านสุขสำราญ ภายในบริเวณวัดป่าพุทธรักษา หมู่ที่ 5 ต.โนนสะอาด อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร โดย เข้าหารือกับพระครูบวรวิมุติกิต (พระครูวินัยธรจอมศรี กันตสีโล)เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธรักษา ต.โนนสะอาด อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้แก่วัดและประชาชนในพื้นที่รวมถึงผู้ประกอบการสร้างโรงงานแปรรูปไม้ ให้สามารถอยู่ด้วยกันได้
วัดป่าพุทธรักษาสร้างเมื่อปี พ.ศ.2536 มีใบตราตั้งก่อสร้างวัด ก่อนหน้านั้นขึ้นทะเบียนตกสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2481 ปัจจุบันพื้นที่วัดเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่วัดจำนวน 40 ไร่ และขึ้นโฉนดจำนวน 7ไร่ครึ่ง ขึ้นทะเบียน นสร.จำนวนทั้งสิ้น 123 ไร่
จากการหารือในเบื้องต้นทราบว่ามีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ผ่าน (EIA การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) มีการทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคมแต่มติไม่ผ่านจากเสียงประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงงานแปรรูปไม้หวั่นเกรงกระทบกับระบบนิเวศของชุมชนและมลภาวะเสีย รวมถึงเกรงกระทบกับคณะสงฆ์ซึ่งเป็นพระวัดป่าสายธรรมยุต ที่ต้องปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด รวมถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ซึ่งบริเวณก่อสร้างโรงงานติดกับแนวรั้วของวัดดังกล่าว
ด้านพระครูวินัยธรจอมศรี กล่าวว่า แม้ว่าวัดจะอยู่ที่หมู่บ้านพุทธรักษาแต่การทำประชาพิจารณ์ได้ไปทำที่บ้านสุขสำราญ หมู่ที่ 7 เนื่องจากสองหมู่บ้านเป็นพื้นที่รอยต่อกันแต่จุดบริเวณที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ของบ้านสุขสำราญซึ่งวัดมีแนวเขตติดต่อทั้งสองหมู่บ้านจากการทำประชาพิจารณ์ มีชาวบ้านออกเสียง เห็นด้วย จำนวน 16 เสียง และคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างจำนวน 41 เสียง ต่อมามีการมาสำรวจทำประชาพิจารณ์ภายในหมู่บ้าน พุทธรักษา จำนวน 114 เสียงไม่เห็นด้วยทั้งหมดในการก่อตั้งโรงงานดังกล่าว จากการหารือในครั้งนี้ทราบว่าทางองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาดให้ โรงงานระงับการก่อสร้างไว้ก่อนเนื่องจากไม่ผ่านประชามติหรือการทำประชาพิจารณ์จากชาวบ้าน แต่ทางโรงงานแจ้งกับองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งรับผิดชอบโดยตรงว่าจะทำการ ก่อสร้างเพียงอาคารพักอาศัย ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนส่วนตนนั้นในฐานะสงฆ์ผู้ปกครองพื้นที่ และพระลูกวัดไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างเพียงต้องการให้ย้ายออกห่างไปจากพื้นที่ป่าของชุมชนและแนวรอยต่อที่ติดกับวัด หวั่นกระทบต่อระบบนิเวศน์เพียงเท่านั้น
ด้าน ดร.นิยม เวชกามา กล่าวว่าเบื้องต้นจากการหารือพบว่าโรงงานมีแนวเขตก่อสร้างที่ติดกับวัดชัดเจนชาวบ้านและชุมชนรวมถึงคณะสงฆ์ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างในบริเวณดังกล่าวเกรงกระทบต่อวิถีชุมชนและระบบนิเวศน์ธรรมชาติซึ่งเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่ใช้สอยประโยชน์ร่วมกันของชาวหมู่บ้านทั้งสองแห่ง ทั้งนี้ตนได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังว่าที่ร้อยตรีรวยรุ่ง ใครบุตร ปลัดจังหวัดสกลนคร ให้มีการประสานกับนายอำเภอบ้านม่วง และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อหาทางออกร่วมกันกับชาวบ้านว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบทั้งทั้งสองฝ่าย ต้องยึดผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลักไม่ใช่กลุ่มทุนจากจีนที่จะมาก่อสร้างโรงงานเพื่อหาผลประโยชน์จากพื้นแผ่นดินไทย
ด้าน สส. เกษม อุประเจ้าของพื้นที่ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทราบมาว่ามีการสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลโนนสะอาดเร่งเซ็นต์อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปไม้ดังกล่าวโดยไม่ฟังเสียงของชาวบ้านที่ ทำประชาพิจารณ์ไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างให้เกิดขึ้น ในพื้นที่ ซึ่งวัดป่าพุทธรักษาจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ ที่มีแนวป่าเขตรั้วของวัดติดกับพื้นที่ก่อสร้างโรงงานแปรรูปไม้หากมีการอนุญาตก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวจริงเกรงว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สำคัญคือกระทบกับคณะสงฆ์ซึ่งเป็นสถานปฎิบัติธรรมต้องการความเงียบสงบ อยากให้ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปไม้หาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่แทนแห่งนี้ส่วนตัวเองนั้นไม่ได้ต่อต้านโครงการก่อสร้างดังกล่าว เพราะถือเป็นการสร้างโรงงานที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ เพียงต้องการให้เขยิบห่างออกไปจากชุมชน 5 ถึง 10 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบกับชาวบ้านและคณะสงฆ์ ดังนั้นผู้มีอำนาจบ้านเมืองต้องมองเห็นประชาชนมากกว่าผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับหากชาวบ้านไม่ต้องการก็ไม่ควรอนุมัติให้มีการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวและต้องลงมาชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน