กระบี่-รับฟังความคิดเห็น แนวทางการป้องกันและแก้ไข การกัดเซาะชายฝั่งทะเล

กระบี่-รับฟังความคิดเห็น แนวทางการป้องกันและแก้ไข การกัดเซาะชายฝั่งทะเล

ภาพ/ข่าว:สุพมาศ พรหมมาส

          กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ครั้งที่ 3โครงการงานจ้างศึกษา วิเคราะห์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งเพื่อการบริหารจัดการและกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมอ่าวนางวิลล่า รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นประธานในพิธีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ครั้งที่ 3โครงการงานจ้างศึกษา วิเคราะห์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งเพื่อการบริหารจัดการและกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด โดยมี ผู้แทนกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป่าไม้ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม กว่า 50 คน
          ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ครั้งที่ 3 พื้นที่อันดามัน โครงการงานจ้างศึกษา วิเคราะห์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งเพื่อการบริหารจัดการและกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมกับแต่ละระบบกลุ่มหาด และยังถือเป็นการร่วมกันกำหนดกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีความเหมาะสมตามหลักวิชาการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมและการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด
           ด้านนายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งที่มาจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์ชายฝั่งที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพตามธรรมชาติ ทั้งเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่อุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างต่างๆ บริเวณชายฝั่ง ที่ไปกีดขวางหรือรบกวนกระบวนการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งตามธรรมชาติ ทำให้ชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนชายฝั่งไม่สามารถปรับเข้าสมดุลได้ดังเดิม
            ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 21 ในการกำหนดเขตพื้นที่ที่จะใช้มาตราการในการป้องกันการกัดเซะชายฝั่ง และดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 จึงกำหนดให้มีการจ้างศึกษา วิเคราะห์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งเพื่อการบริหารจัดการและกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เพื่อให้ได้แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมกับแต่ละระบบกลุ่มหาด รวมถึงเพื่อเป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีความเหมาะสมตามหลักวิชาการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมและการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด
              กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย งานศึกษา วิเคราะห์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งเพื่อการบริหารจัดการและกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด” โดยผู้จัดการโครงการฯ ดร.กิตติพจน์  เพิ่มพูล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , นำเสนอ (ร่าง) แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลโดย ผศ.ดร.สมฤทัย ทะสดวก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ นายสาโรจน์ โพธิ์เกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
               อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการต่อ (ร่าง) แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสอดคล้องกับสภาพการใช้งานของชายฝั่งต่อไป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!