สุพรรณบุรี-เปิดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อโตและเทศกาลลอยกระทง
ภาพ-ข่าว:มงคล สว่างศรี/ธนกฤต แตงโสภา
ครั้งหนึ่งในชีวิต นางรำสายบุญทุกวัย จากหลายจังหวัด 300 ค พร้อมใจกันมารำบวงสรวง ถวายหลวงพ่อโต เปิดงานนมัสการปิดทองไหว้พระหลวงพ่อโต และเทศกาลลอยกระทง ขณะที่ชาวบ้านต่างฮือฮาเลขสวยหางประทัด ในพิธีเปิดงานนมัสการปิดทองไหว้พระหลวงพ่อโต ได้เลข 888 ตรงกันทั้ง 2 หาง พร้อมเปิดโบสถ์มอญ มหาอุดเก่าที่สุดในประเทศไทย ให้เข้าชมได้ หลังจากปิดมานาน 23 ปี
ไปกันที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี นายเชษฐา ขาวประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ประธานเป็นเปิดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อโตและเทศกาลลอยกระทง ซึ่งมีพระพรหมโมลี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 5 เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระธรรมพุทธิมงคล ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ โดยช่วงเช้าได้มีนางรำจิตอาสาจากจังหวัดสระบุรี สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี อ่างทองและสุพรรณบุรี รวมกว่า 300 คน รำบวงสรวงถวายหลวงพ่อโต ในเพลง ลายสักการะหลวงพ่อโต บริเวณหน้าวิหารหลวงพ่อโต
ซึ่งจัดให้มีการรำบวงสรวงถวายหลวงพ่อโตเป็นครั้งแรก ที่มีนางรำจากจังหวัดต่าง ๆ มารวมตัวกันมากที่สุดถึง 300 คน ทำให้นางรำจิตอาสา ขอเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้มีโอกาสมารำถวายหลวงพ่อโต งานจะมีไปจนถึงวันที่ 16 พ.ย.2567 ภายในงานมีมหรสพ ดนตรี ลิเก ชื่อดังดังให้ชมฟรี ทุกค่ำคืน มีร้านค้า ของกิน ของใช้ สินค้าโอทอป ของดีมาจำหน่ายมากมาย ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อโต ได้จุดประทัดบวงสรวงเฉลิมฉลอง 2 หมื่นนัด หลังสิ้นเสียงประทัดชาวบ้าน นักเสี่ยงโชคต่างฮือฮา เลขหางประทัด 2 เลข ได้เลข 888 ตรงกันทั้ง 2 หาง
ตามประวัติวัดป่าเลไลยก์ ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ.1369 โดยทางวัดป่าเลไลยก์ ได้ตั้งเป้าไว้ 2 ปีหน้า วัดป่าเลไลยก์ ครบ 1,200 ปี จะมีนางรำสายบุญมาร่วมพิธีรำบวงสรวงหลวงพ่อโตมากถึง 1,200 คน เพื่อเฉลิมฉลอง 1,200 ปี วัดป่าเลไลยก์ อย่างยิ่งใหญ่ สำหรับวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นปูชนียสถาน คู่บ้านคู่เมือง และเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวสุพรรณบุรี มานับพันปี
ตามตำนานเล่าว่า ภายในองค์หลวงพ่อโต ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ เป็นสิริมงคลแก่ผู้บูชากราบไหว้ อีกทั้งได้รับการบันทึกผ่านหน้าประวัติศาสตร์ วรรณกรรมสำคัญของชาติหลายเรื่องด้วยกัน แต่ปรากฏชัดเจนที่สุดในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ทำให้ทราบได้ว่า วัดป่าเลไลยก์ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมศรัทธาแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงศิลปะพื้นบ้านของชุมชนภาคกลางศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เช่น ลิเก เพลงอีแชว และการละเล่นต่าง ๆ
ซึ่งตอนนี้ทางวัดป่าเลไลยก์ ได้เปิดโบสถ์มอญ มหาอุตม์อายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยเปิดให้ชาวบ้าน นักท่องเที่ยวได้ชมศิลปะ ความงามของพระประธานและความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ภายใน เสาหลักวัดที่หาชมได้ยาก ยังเก็บรักษาไว้อย่างดี หลังจากโบสถ์มอญ มหาอุตม์ ปิดตายห้ามเข้ามากว่า 23 ปี สำหรับโบสถ์มอญมหาอุตม์ (วัดมอญร้าง) อยู่ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี สร้างโดยกลุ่มชนชาวมอญมีอายุ ประมาณ 713-1,194 ปี
ในโบสถ์มีพระประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งเมืองหลวงชาวมอญ ตัวโบสถ์มอญมีขนาดเล็กจุคนได้ไม่มาก ปกติจะเปิดใช้ทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น เป็นที่พระภิกษุเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตลอดจนเป็นที่ฝึกฝนร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมปลุกเสกเครื่องรางของขลังและศาตราวุธต่าง ๆ ของเกจิอาจารย์ตลอดถึงแม่ทัพนายกองผู้เรืองวิชาในยุคก่อน ในตำนานว่ากันว่าขุนแผนก็ใช้สถานที่นี้ฝึกฝนและเรียนวิชาคาถาอาคมตั้งแต่ตอนบวชเณรด้วยเช่นกัน
เนื่องด้วยลักษณะตัวโบสถ์มีประตูเข้าออกแค่ทางเดียวบานเดียวไม่มีหน้าต่าง เป็นที่มาของคำว่าโบสถ์มหาอุตม์ จึงมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ สำหรับทำพิธีต่าง ๆ แม้แต่ยุคสมัยเสือต่าง ๆ ในสุพรรณบุรี หรือแม้แต่เหล่าตำรวจมือปราบต่างก็เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อถิร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ พระเกจิดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี และได้ร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมกันที่โบสถ์มอญมหาอุตม์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน