ราชบุรี-เทศกาลเล่นว่าว กินข้าวนำกัน ครั้งที่ 1
ภาพ-ข่าว:ประทีป อยู่แช่ม
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมอำเภอโพธารามและภาคีเครือข่ายจัดงาน เทศกาลเล่นว่าว กินข้าวนำกัน ครั้งที่ 1 สืบสานวัฒนธรรมลาวเวียง เพื่อสืบค้นภูมิปัญญาทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชุมชนบ้านเลือก ภายใต้สนับสนุน ทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมตามโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานเทศกาลเล่นว่าว กินข้าวนำกัน ครั้งที่ 1 โดยนายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต 3 พระครูวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ นายไชยันต์ ลิ้มมะ กำนันตำบลบ้านเลือก นายกิตติพล พรพิทักษ์พงศ์ สจ.เขตอ.โพธาราม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และเครือข่ายลาวเวียงร่วมในพิธี และนายวิเชษฐ์ ภู่ทอง รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเลือก รักษาการนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเลือกกล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงาน ผศ.ณฐพรภัทร์ อินทร์ศิริพงษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ของการจัดงาน
ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อำเภอโพธาราม เทศบาลตำบลบ้านเลือก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 สภาวัฒนธรรมอำเภอโพธาราม และภาคีเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.)ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)โดยวิทยสถาน รัชภูมิ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมและเกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ดำเนินการจัดงานเทศกาลเล่นว่าว กินข้าวนำกัน ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “เทศกาลว่าว โพธาราม วิถีว่าวไทย : การขับเคลื่อนวัฒนธรรมเพื่อการฟื้นฟูอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นถิ่น
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อการพลิกฟื้นคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงสืบสานและอนุรักษ์ทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวลาวเวียงตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม การละเล่นพื้นบ้านอย่างการเล่นว่าวที่เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา ให้กลับมามีชีวิตชีวา ผ่านเส้นสายลายเสียงของการจัดงานเทศกาลโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้สนับสนุนงบประมาณ สำหรับจัดนิทรรศการด้านวัฒนธรรม รวมถึงวัดพระศรีอารย์ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่จัดงานในครั้งนี้งานเทศกาลเล่นว่าว กินข้าวนำกันครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2567
ภายในงานได้มีการมอบวุฒิบัตรยกย่องปราชญ์ชุมชนผู้สืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน และมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้นำชุมชน เครือข่ายผู้ร่วมงาน และมอบรางวัลการแข่งขันว่าวชิงแดน รางวัลประกวดว่าวสร้างสรรค์ การแสดงพื้นถิ่นพหุวัฒนธรรมลางเวียงตอน ลาวเวียงบนแผ่นดินสยาม และไฮไล้ของการจัดงานครั้งนี้ทางชมรมว่าววัดพระศรีอารย์ และเครือข่ายว่าวได้จัดทำว่าวจุฬา 9 ศอก เป็นว่าวจุฬาไทยโบราณใหญ่ที่สุดในประเทศ และใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมติดลายดอกเบญจรงค์ 5 สี บนตัวว่าวกว่า 10,000 หมื่นดอกอย่างสวยงามที่นำมาโชว์ภายในงานครั้งนี้
ภายในงานมีขบวนแห่เครือข่ายวัฒนธรรมลาวเวียงกว่า 300 คนการแสดง และแข่งขันเล่นว่าว โดยเฉพาะการแข่งว่าวชิงแดนที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน การแสดงรำจากกลุ่มนางรำของตำบลบ้านเลือกและเครือข่ายที่ร่วมกันฟ้อนรำตามวิถีลาวเวียง และกิจกรรมภายในงานมีการแข่งขันนวัตกรรมจากกระดาษว่าว การแข่งขันว่าวชิงแดน การประกวดว่าวสวยงาม นิทรรศการว่าว 3 ชาติพันธุ์ นิทรรศการ วิถีวัฒนธรรมลาวเวียง อาหารพื้นบ้านของลาวเวียงและไทยพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์สินค้าหลากหลายของชุมชน โครงงานอาชีพของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี
ส่วนวันที่ 2 จะเป็นการละเล่นกีฬาพื้นบ้านลาวเวียงเชื่อมความสัมพันธ์ ร่วมกินข้าวชมการแสดงหมอลำแม่นิยม และหมอลำสุพรรณบุรี และการแสดงรำจากปราชญ์ชมขมขนผู้อนุรักษ์ท้องถิ่น และปิดท้ายด้วย การประกวดหนุ่ม-สาวลาวเวียงที่สะท้อนถึงวิถีอันดีงามของชาวลาวเวียงผ่านลูกหลาน