กาญจนบุรี-สสจ.Kick off ขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)

กาญจนบุรี-สสจ.Kick off ขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)

“ด้วยกลไก อสม.เพื่อคนเมืองกาญจน์สุขภาพดี”

ภาพ-ข่าว:รักษพล พุ่มพฤกษ์

          เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ณ.ที่ ห้องประชุมหลวงปู่หลิว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ธีรพจน์ ฟักน้อย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนนโยบาย คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จังหวัดกาญจนบุรี
           โดย นายรังสิมันตุ์ ทองสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและหัวหน้ากลุ่มงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายก อบจ.กาญจนบุรี ผู้อำนวยการ ร.พ.ทุกแห่ง สาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ ประธานชมรม อสม.ระดับจังหวัดและอำเภอ อสม.ดีเด่น และผู้รับผิดชอบงานจากทุกอำเภอ จำนวน 200 คน เข้าร่วมฯ
          สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนนโยบาย คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จังหวัดกาญจนบุรี และรวมพลังของ อสม.และเครือข่าย ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกชุมชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรค NCDs การให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง การดูแลกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วยที่เชื่อมโยงระบบสุขภาพปฐมภูมิ สนองตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ อสม.และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อคนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ เพื่อลดอัตราป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครอบครัวและชุมชน
           โดยใช้แนวคิด “NCDs ดีได้ ด้วยกลไก อสม.” จากข้อมูลในปัจจุบันประชาชนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย การดื่่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่่ นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียดสูง เป็นต้น ทำให้เกิดความสูญเสียต้นทุนด้านเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท จากค่ารักษาพยาบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม
            ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรีมีข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ของจังหวัดกาญจนบุรี นับตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่าในแต่ละปี ผู้ป่วยรายใหม่ของโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวน 2.5 เท่าของเบาหวาน โดยในปี 2567 พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ความดันโลหิตสูง คิดเป็นอัตรา 1,870 ต่อแสนประชากร และเบาหวาน คิดเป็นอัตรา 725 ต่อแสนประชากร โดยที่กลุ่มเสี่ยงก็เริ่มเป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงอายุน้อยลง และมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้้นอย่างต่อเนื่่อง
            ดังนั้น การขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทำให้มีความรู้ในการปรับพฤติกรรมการกินแบบนับคาร์บ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ลดการเกิดผู้ป่วย NCDs รายใหม่ ส่วนผู้ที่ป่วยแล้วก็สามารถควบคุมโรคได้ดี ชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
            สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการบรรยายพิเศษ การมอบประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่มีผลงานเด่น การแสดงนิทรรศการสาธิต การตอบปัญหาชิงรางวัล กิจกรรมเสริมความรู้สู่พลัง อสม. กิจกรรมชวน อสม.นับคาร์บ การรายงานข้อมูลผ่าน Application SMART อสม. และกิจกรรมเปิดตัว (Kick off) “NCDs ดีได้ ด้วยกลไก อสม.”

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!