ประจวบคีรีขันธ์-อดีตนายอำเภอฯแฉพิรุธ..โครงการแก้น้ำท่วม..!!

ประจวบคีรีขันธ์-อดีตนายอำเภอฯแฉพิรุธ..โครงการแก้น้ำท่วม..!!

ภาพ-ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม

            วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 นายกฤษดา ตันธีรธรรม อายุ 75 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 บ้านดอนเหียง ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตนายอำเภอกันตัง ต.ตรัง อดีตนายอำเภอทับปุด จ.พังงา อดีตปลัดอาวุโสที่ทำการปกครอง อ.เมืองประจวบฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเห็นด้วยและสนับสุนนแนวทางของกรมโยธาธิการฯใช้งบ 144.7 ล้านบาท ทำโครงการแก้ไขปัญหาในเขตเทศบาลเมืองประจวบฯตั้งแต่ปี 2560

           แต่พบว่าในเขตเทศบาลมีปัญหาในการใช้ที่ดินของการรถไฟ โยธาจึงโอนงบ 44 ล้านที่เหลือไปทำในเขต อบต.เกาะหลัก ซึ่งกรณีนี้เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุของน้ำท่วมมาจากการออกโฉนดทับลำห้วยร่องทศกัณฑ์ และลำห้วยร่องประดู่ โดยปัจจุบันทางราชการยังไม่มีการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หลังจากมีการสอบสวนข้อเท็จจริงนานกว่า 25 ปี

            นายกฤษดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานของรัฐให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แต่เน้นการก่อสร้างโครงการเพื่อใช้งบประมาณ ไม่หวังผลว่าจะแก้ปัญหาในระยะยาวได้อย่างไร เนื่องจาก 25 ปีทีผ่านมา ตนมีการตรวจสอบขณะที่ทำหน้าที่ปลัดอำเภอเมืองประจวบฯ แต่ยังไม่มีใครสนใจเสนอเพิกถอนเอกสารสิทธิทับลำห้วยร่องทัศกัณฑ์ทั้งในพื้นที่ ต.เกาะหลักและพื้นที่ปลายน้ำก่อนลงทะเลในเขตเทศบาลเมืองฯ ปัจจุบันมีการนำไปออกโฉนดทั้งหมด มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อยังไม่มีความคืบหน้า
           นายกฤษดา กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน มีปัญหาฝนตกหนัก มีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2542 จาการตรวจสอบพบว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมเนื่องจากน้ำป่าที่ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านทิศตะวันตกไม่สามารถไหลผ่านลำห้วยสาธารณะ 2 สาย ไปลงทะเลที่ปากคลองบางนางรมได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากมีการถมดิน ปรับสภาพพื้นที่ ที่มีผลกระทบมาจากการออกเอกสารสิทธิที่ดินในลำห้วยสาธารณะหลายจุดที่อยู่ในการดูแล รักษาเพื่อประโยชน์สาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอและเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 แต่มีการปล่อยปละละเลยเป็นเวลานานทำให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากส่งผลกระทบกับประชาชนในระยะยาว

             ด้านตัวแทนเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัดทำการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2542 โดยสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2545 แต่การแก้ไขปัญหาการออกโฉนดทับลำห้วยยังไม่มีความคืบหน้า ในปี 2557 นายกฤษดาฯ ได้นำเอกสารหลักฐานไปมอบให้นายสมมิตร ศิลป์ประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในขณะนั้นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามเอกสารที่อ้างถึง แต่หลังจากมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ( กบร.)จังหวัด ครั้งที่ 4 /2559 วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ระบุให้มีการส่งระวางพิกัดจากผลการสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี 2542 – 2545 และมีผลสรุปจากมติ กบร.ครั้งที่ 4/2559 ส่งไปทำการอ่านและแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฎว่าที่การปกครองจังหวัดไม่ดำเนินการตามมติ กบร.แต่อย่างใด

           “กรณีนี้ไม่มีความคืบหน้าในกรณีดังกล่าวเป็นเวลานาน 7 ปี ต่อมาในปี 2566 มีการประชุม กบร. อีกครั้ง ตามสำเนาหนังสือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ ปข 0017.1/19995 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 อ้างว่าการส่งระวางไปอ่านและแปล ฯ อ้างมติจากที่ประชุม กบร.เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 แต่จากการตรวจสอบพบว่าระวางพิกัดที่ส่งไปอ่านและแปลฯ ซึ่งจะต้องตรวจสอบว่าตรงกับผลการสรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัดในอดีต ซึ่งมีการกำหนดพิกัดและระวางเดิมไว้อย่างชัดเจนแล้วหรือไม่จากมติ กบร.เมื่อปี 2559 “

             นายกฤษดา กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่าการประชุมกรรมการ กบร.ในปี 2566 ไม่น่าจะนำหลักฐานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้หากมีการส่งพิกัดและระวางผิดพลาด ไม่เป็นไปตามผลการสอบสวนในปี 2542-2545 ก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนที่จะต้องประสบภัยน้ำท่วมและสร้างความเสียหายให้กับทางราชการต้องใช้งบประมาณเยียวยาผลกระทบกับประชาชนและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งที่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นภารกิจที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะจะต้องดำเนินการตามแผนงานโครงการที่กำหนดไว้ ที่น่ากลัวลมากที่สุดคือการอ่านและแปลฯมีผลสรุปว่า ในอดีตไม่มีการออกโฉนดทับลำห้วยตามที่ประชาชนร้องเรียน จะทำให้เจ้าของเอกสารสิทธิ์จำนวนมากถมดินปิดลำห้วยสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน จะส่งผลกระทบกับประชาชนที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอนาคต

            “ กรณีนี้ได้มีการเรียนร้องให้ ป.ป.ช.ทำการไต่สวน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงเหตุผลในการปล่อยปละละเลย หากไม่ส่งระวางและพิกัดที่ดินตามมติ กบร.ปี 2559 ไปอ่านและแปลภาพถ่ายทางอากาศ โดยประวิงเวลานานกว่า 7 ปี ถือว่าไม่ใช้อำนาจหน้าที่ตรวจสอบการออกโฉนดรุกลำห้วย ที่ควรได้รับการแก้ไขตามแนวนโยบายของรัฐบาล และหนังสือสั่งการเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สำรวจและแก้ไขปัญหาการถมปิดลำราง ลำห้วยสาธารณะประโยชน์ที่กีดขวางทางน้ำ นอกจากนั้นไม่ปรากฏชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2559 จะมีการประชุม กบร.อีกกี่ครั้ง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ หากไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาการบุกรุกที่ดินถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ “ นายกฤษดา กล่าว

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!