สุพรรณบุรี-สว.รายงานการดำเนินการของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯ
ภาพ-ข่าว:มงคล/รัตนา/พงศกร สว่างศรี
นายศรายุทธ ยิ้มยวน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพรรณบุรี เปิดเผยว่าจากการศึกษาการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ณ ด่านศุลการ จ.มุกดาหารและ ด่าน จ.นครพนม : เข้า-ออก ไทย-ลาว ระหว่าง 21-22 พ.ย. 67 ข้อมูลสำคัญในบางประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ข้อมูลที่พบ 1.การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสปป.ลาว ส่งเข้ามายังประเทศไทย-มีการนำสินค้าเข้าจากสปป.ลาวผ่านด่านมุกดาหารมากมายหลายชนิด และที่น่าสนใจพบว่าปี2567 นำเข้ามันสำปะหลังตากแห้งมูลค่า 1,261 ลบ. (ราคามันสด ณ ปัจจุบันเฉลี่ยตันละ 2,500 บาท) ใช้มันสด 2.5 ตันได้มันแห้ง 1 ตัน ราคาปัจจุบันตันละประมาณ 7,000บาท ดังนั้น มูลค่านำเข้า 1,261 ลบ.จะเท่ากับมันแห้งประมาณ 180,000 ตัน ถ้าค่าเฉลี่ยผลิตผลไร่ละ 2.5 ตัน เท่ากับใช้พื้นที่ปลูก 180,000 ไร่ ถ้าปลูกครอบครัวละ 10 ไร่ เท่ากับสามารถส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกได้อีก 18,000 ราย
แต่ทั้งนี้การเพิ่มพื้นที่อาจจะไม่สามารถเพิ่มได้ แต่ทางเลือกคือการส่งเสริมผู้ปลูกรายเดิมให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยเทคโนโลยีและวิชาการที่ทันสมัย ได้แก่การใช้ระบบน้ำหยด การไถระเบิดดินดาน การคัดเลือกท่อนพันธุ์ที่ดี ก็จะเพิ่มผลผลิตจากไร่ละ 2.5 ตันเป็นไร่ละ 6-8 ตันได้
บทสรุปและแนวทางนำเสนอ-พื้นที่จ.มุกดาหาร นครพนม หรือจังหวัดใกล้เคียงอื่นที่มีพื้นที่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังเพื่อทดแทนการนำเข้าในส่วนนี้ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรไทย และเพื่อทดแทนการนำเข้าก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเพราะตลาดในประเทศยังมีความต้องการชัดเจน ผลผลิตไม่พอใช้ในประเทศ
2.การส่งออกสินค้าจากไทยผ่านด่านจ.นครพนม เพื่อส่งสินค้าข้ามแดนไปสปป.ลาว และปลายทางไปเวียดนามและจีน -พบว่ามีการส่งออกทั้งผลไม้ อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กโทรนิค ตลอดจนสินค้าเกษตรหลายรายการ *และที่น่าสนใจคือการส่งออกโคเนื้อและกระบือ ซึ่งในเดือนตุลาคมปี2567 ส่งออกไปเป็นมูลค่าประมาณ 1,231 ลบ. และทราบว่าเป็นโคเนื้อและกระบือที่ส่งมาจากภาคกลางและตะวันตก สำหรับข้อมูลนี้หากนำมาคำนวณเป็นธุรกิจ จะพบว่า ถ้าราคาค่าเฉลี่ยตัวละ 40,000 บาท จะพบว่าส่งออกไปเกือบ 31,000 ตัว หากคิดเป็นจำนวนเกษตรกร1ครอบครัวเลี้ยงได้ 5 ตัว เท่ากับจะมีผู้เลี้ยงรายย่อยประมาณ 6,200 ราย
บทสรุปและแนวทางนำเสนอ-หากพื้นที่จ.นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หรือจังหวัดใกล้เคียง มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและกระบือในพื้นที่ก็จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรไทยมากๆ เพราะการที่เลี้ยงในพื้นที่ใกล้เขตแดนไทย-ลาว ย่อมมีต้นทุนส่งออกที่ต่ำกว่าการนำโคเนื้อและกระบือจากภาคกลางหรือภาคอื่นเพราะน้องขนส่งมาไกล ถ้าเลี้ยงในพื้นที่นี้ก็จะมีค่าขนส่งที่ต่ำกว่ามาก ผู้เลี้ยงย่อมจะมีกำไรส่วนเหลือได้มากกว่าด้วย ซึ่งจะสามารถทำให้เกษตรกรสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนแก้ปัญหาหนี้สินได้ด้วย เพราะโคเนื้อและกระบือเป็นที่ต้องการของตลาดจีนและเวียดนามเป็นจำนวนมาก
3.แนวทางต่อไปของกมธ.เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง-โดยคณะอนุกมธ.การคลังที่รับผิดชอบงานการแก้หนี้ครัวเรือนและแก้ไขปัญหาความยากจน จะทำเป็นบทสรุปย่อเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง เพื่อรับไปพิจารณาและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ ตลอดจนสามารถลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้ โดยจัดทำโครงการแบบใช้ตลาดนำการผลิต และให้ความรู้ รวมทั้งสนับสนุนทุน
ตลอดจนอาจจะมีการใช้งบประมาณในการ subsidy ในบางรายการให้โครงการนี้ตามความจำเป็น เพราะจะเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้โดยตัวเกษตรกรเอง ซึ่งเกษตรกรจะไม่เสียวินัยด้วยเพราะไม่ได้เป็นการแจกเงินเท่านั้น แต่เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรช่วยสร้างGDPทางอ้อมด้วย
ทั้งนี้ หากเสนอถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว คณะกมธ.เศรษฐกิจฯ จะติดตามผลอย่างต่อเนื่องต่อไป และผมอาจจะต้องไปอภิปรายกระตุ้นในสภาด้วย