ประจวบคีรีขันธ์-คุมประพฤติฯจัดโครงการสานสัมพันธ์น้องพี่แก้ปัญหายาเสพติด..!!
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
“ลดประชากรผู้ป่วยจิตเวชสาเหตุจากเสพยาเสพติด”
วันที่ 26 พฤศจิกายน 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมใหญ่สมานมิตรศูนย์ฝึกอบรมมวลชน(ศูนย์ฝึกสมานมิตร)อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสานสัมพันธ์น้อง-พี่ เสริมพลังต้านยาเสพติด รุ่นที่ 1 ประจำปีงบประมาณพ.ศ 2568 ซึ่งสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดขึ้น
โดยมีนายวสันต์ เภรีวิค ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีนายปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบ นางเรณู พิมพ์สอ นายแพทย์สาธารณะสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางสาวนลิน มาคเชนทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายนันทเวชช์ กรรณสุทธิ์ ผู้แทนผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดประจวบฯ นายชาตรี คล้ายสำอางค์ หัวหน้าศูนย์ฝึกอบรมมวลชนศูนย์ฝึกสมานมิตร บุคลากรเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์เข้าร่วมเป็นเกียรติในกิจกรรม”
“ทั้งนี้โครงการดังกล่าว กรมคุมประพฤติในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคุมความประพฤติและการพัฒนาพฤตินิสัย แก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติดในกระบวนการคุมประพฤติ ได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลให้โอกาสรอการลงโทษ ได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดี กลับมาสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมตามแนวคิดการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง โดยกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติและผู้กระทำผิดที่ศาลมีคำสั่งให้บำบัดยาเสพติดมีความเข้มแข็งทางใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เสริมสร้างแรงจูงใจให้เลิกสารเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทางสังคมได้”
“นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานในพิธีกล่าวว่า โครงการสานสัมพันธ์น้อง-พี่ เสริมพลังต้านยาเสพติดในปีนี้ เป็นงบประมาณของกรมคุมประพฤติที่ต้องการให้ผู้ที่ติดยาเสพติดและถูกศาลสั่งให้คุมประพฤติได้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน โดยการบำบัดรักษา การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจจากผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกคุมประพฤติหันมาเลิกเสพยาเสพติดกลับไปดูแลครอบครัว และสังคม กลับตัวกลับใจไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ไม่ต้องไปถึงขั้นเป็นบ้าหรือป่วยจิตเวช เลิกฆ่าพ่อฆ่าแม่ หรือต้องใช้ยารักษาไปตลอดชีวิต หรือต้องให้หมอมารักษาไปจนเสียชีวิต ซึ่งจะทำให้ครอบครัวและสังคมเกิดความสงบสุขร่มเย็นได้”