อุทัยธานี-เตือนภัยสายแคมป์ กลางเต็นท์นอนกลางป่า โอกาสถูกยุงก้นปล่องกัด
ภาพ-ข่าว:วราภรณ์ จันทรังษ์
กลางเต็นท์นอนกลางป่า โอกาสถูกยุงก้นปล่องกัด เสี่ยงต่อการป่วยเป็นไข้มาลาเรีย และต้องระวังตัวไรอ่อนกัด สาเหตุของการเกิดโรคสครับไทฟัส หากกลับจากเที่ยวป่ากางเต็นท์นอนภายใน 2 สัปดาห์ มีไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณขมับ และหน้าผากอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าเพื่อแพทย์ให้การรักษาได้อย่างถูกวิธี
ที่จังหวัดอุทัยธานี ฝ่ายป้องกันและควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี แจ้งมาว่าช่วงนี้นักท่องเที่ยวสายแคมป์นิยมเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โดยตั้งแคมป์และกางเต็นท์นอนกลางป่า หรือจุดกางเต้นท์ต่างๆ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีโอกาสถูกยุงกัดเสี่ยงต่อการป่วยเป็นไข้มาลาเรีย เนื่องจากยุงก้นปล่องนำเชื้อไข้มาลาเรียมาสู่คนได้
โดยหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 10-14 วันจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่นสลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกไม่สบายกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวสันนิษฐานไว้ก่อนว่าป่วยเป็นไข้มาลาเรีย พร้อมรีบไปพบแพทย์เจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าจนมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ การกางเต็นท์ หรือตั้งแคมป์ ในป่าให้ระมัดระวังตัวไรอ่อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคสครับไทฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่ ที่อาศัยในขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต และชอบกัดมนุษย์บริเวณขาหนีบ เอว ลำตัวแถวใต้ราวนม รักแร้ จะปล่อยเชื้อริกเก็ตเซียเข้าสู่คน ทำให้ผู้ที่ถูกกัดมีไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณขมับ และหน้าผากอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้มีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋มแต่ไม่คัน และผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 อาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นการไปเที่ยวป่า หรือจุดกางเต็นท์ต่างๆที่เป็นจุดเสี่ยง การกางเต้นท์นอนควรเลือกที่ตั้งแคมป์พักในบริเวณโล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่ง และนอนบนพื้นหญ้า แต่งกายให้มิดชิด สวมถุงเท้าหุ้มไปจนถึงปลายขากางเกง ทายากันยุง และยาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา และควรสังเกตอาการของตนเอง หากกลับจากเที่ยวป่ากางเต็นท์นอนภายใน 2 สัปดาห์และพบมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าเพื่อแพทย์ให้การรักษาได้อย่างถูกวิธีต่อไป