ลพบุรี-ออเดอร์ล้นข้ามปี “เมล่อนสายพันธุ์แสนหวาน” สไตล์ญี่ปุ่น 2 สายพันธุ์ในแปลงเดียวกัน
ภาพ/ข่าว:กฤษณ์ สนใจ
วันนี้พาไปดูความสำเร็จของเกษตรกร ฟาร์มเมล่อนจังหวัดลพบุรี ที่ อรพรรณ เมล่อนฟาร์ม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สุรัติกาล ฟาร์ม เลขที่ 75 หมู่ 5 ต.ป่าตาล อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยที่ อรพรรณ เมล่อนฟาร์ม แห่งนี้ ปลูกเมล่อน 2 สายพันธุ์ในโรงเรือนเดียวกัน คือ สายพันธุ์ แสนหวาน (Sanwan melon) เมล่อนสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งมีผลสีเขียวลายตาข่าย เนื้อส้ม หวาน หอม นุ่ม และเมล่อนสายพันธุ์ไทเฮา (Thaihao melon) เป็นเมล่อนอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มาจากประเทศจีน ผิวมีรอยแตก สีทอง เนื้อมีสีส้มฟูกรอบ รสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นหอม โดยในแต่ละโรงเรือนเพาะปลูก จะมีขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 30 เมตร สามารถปลูกเมล่อน 2 สายพันธุ์ ได้เฉลี่ย 350 ต้น ถึง 380 ต้น ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล โดยที่ ฟาร์มเมล่อน แห่งนี้ มี 3 โรงปลูก แต่ละโรงเรือน จะมีการวางแผนการเพาะปลูก โดยจะมีวงรอบการเพาะปลูกในโรงเรือน 80-90 วัน หมุนเวียนกันไปแบบไม่ตรงกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเกือบทั้งปี ในทุกๆ 2 เดือน และมีความหวานทะลุ 19 บริกซ์
ส่วนวัสดุปลูก ของที่ฟาร์มแห่งนี้ จะใช้ทราย แทนดิน ในการเพราะปลูก แล้วใช้ฟางปกคลุมบริเวณโคนต้น เพื่อรักษาความชื้น การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด โดยใช้ทามเมอร์ตั้งเวลา ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และช่วงเวลาในการเจริญเติมโต ถือเป็นเมล่อนปลอดสารแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดสัตรูพื้น เพาะปลูกในโรงเรือน ใช้ปุ๋ยน้ำ สูตร A , B และเทคนิคสำคัญในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย ก็จะมีการปรับเปลี่ยนปุ๋ย สูตร 0-0-50 โพแทสเซียมซัลเฟต สำหรับใช้ในระบบไฮโดรโปนิกส์ ระบบน้ำหยด เพื่อเพิ่มความหวาน และสีสันให้ผลเมล่อน และที่สำคัญ…ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 3-5 วัน ก็จะงดให้ปุ๋ย โดยให้น้ำเปล่าแทน เพื่อไม่ให้มีสารตกค้าง และทำให้เมล่อน สร้างความหวานตามธรรมชาติ โดยเมล่อน 1 ต้น อาจให้ผลผลิตได้หลายลูก แต่เกษตรกรจะเลือกผลผลิตที่ดีที่สุด ลูกที่สมบูรณ์ที่สุด ไว้เพียงลูกเดียวเท่านั้น ขณะที่ ผลอ่อนของเมล่อน จะถูกนำไปแปรู ได้หลากหลาย เช่น นำไปทำแกงส้ม ต้มจืด และกินกับน้ำพริกได้อย่างอร่อย จนมีคนติดต่อ ขอจองรับซื้อหมดทุกรอบ โดยทางฟาร์มได้มีการทำ MOU (เอ็มโอยู) ร่วมกับ วิทยาลัยอาวีวะศึกษาลพบุรี ในการพัฒนาด้านอาหารจากผลผลิตจากเมล่อนไว้ด้วย
ด้าน คุณสุรัตติกาล แสงแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนป่าตาล เจ้าของ สุรัติกาล ฟาร์ม กล่าวว่า พื้นที่นี้ ทำเกษตรอินทรีย์ มา 50-60 ปี มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผักสลัด พืชผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ และ ปุ๋ยมูลไส้เดือน ทางฟาร์ม พยายามที่จะส่งเสริม เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง Smart Farmer ผู้ประกอบการเกษตรที่มีการใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ เพื่อการดำเนินธุรกิจเกษตรอย่างทันยุคสมัย มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ เราก็ยินดีที่จะให้มาอยู่ในพื้นที่ โดยมีการแบ่งพื้นที่นี้ให้ทำ อย่างเช่น อรพรรณ เมล่อนฟาร์ม ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ มีประสบการณ์มาอยู่ร่วมกัน เพื่อให้เป็นเกษตรที่ครบวงจร เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้แก่เกษตรกรที่สนใจ ได้มาศึกษาดูงาน
ขณะที่ คุณอรพรรณ แก้วพวง เกษตรกร ผู้ปลูกเมล่อน ในนาม อรพรรณ เมล่อนฟาร์ม กล่าวว่า ผลผลิตของทางฟาร์ม มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปลูกในโรงเรือน โดยจะขายทางออนไลน์ ผ่านช่องทางกลุ่มไลน์ เครือข่ายเกษตรอินทร์ และ เพจ อรพรรณเมล่อนฟาร์ม เป็นส่วนใหญ่ โดยทุกรอบการผลิต จะมีคนเข้ามาสั่งจองไว้หมดตั้งแต่เมล่อนติดลูกอ่อนคัดลูกแล้ว เนื่องจาก เมล่อน ถือเป็นหนึ่งในผลไม้คลายร้อนที่มีรสชาติหวานฉ่ำ อุดมไปด้วยความอร่อย ถูกปากผู้บริโภคกันอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญเมล่อนปลูกได้ทุกฤดูกาล มีผลผลิตตลอดปี โดยออเดอร์ ที่ลูกค้าสั่งจองมีมาจากทั่วประเทศ โดยมีราคาขาย สำหรับสายพันธุ์แสนหวาน จะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนสายพันธุ์ ไทเฮา กิโลกรัมละ 120 บาท โดยแต่ละรอบการผลิตส่งจำหน่าย จะมีเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย มาค่อยอำนวยความสะดวกให้บริการรับไปส่งต่อให้กับลูกค้า แบบส่งตรง จากต้นทางในฟาร์ม ถึง มือผู้บริโภคปลายทาง อีกด้วย