สระแก้ว-เร่งทำลายต้นมันสำหลังแปลงที่เป็นโรคใบด่าง
ภาพ/ข่าว:สวาท เกตุงาม
ขอบคุณภาพและข้อมูล:สุชีวิน ปิยะมิตรบัณฑิต ส.ปชส.สระแก้ว
เร่งทำลายต้นมันสำหลังแปลงที่เป็นโรคใบด่าง ก่อนระบาดหนักเสียหายมากกว่านี้
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ลงพื้นที่ไร่มันสำปะหลัง บ้านทัพสยาม ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วย นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา เกษตรจังหวัดสระแก้ว เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 19 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ เกษตรกร เพื่อทำลายแปลงมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างมันสําปะหลัง และ ให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่ โดยผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตรชี้แจง ขั้นตอนการกำจัดและทำลายแปลงมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างมันสําปะหลังด้วย
นายอารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอตาพระยา กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอตาพระยามีการระบาดใบด่าง ที่รุนแรงอยู่ที่สุด 3 หมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้ทางจังหวัดได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของการทำลายเพื่อตัดวงจรโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ส่วนในพื้นที่ที่ยังไม่ระบาดรุนแรงจังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรโดยการจัดซื้อสารเคมีเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวพร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในการกำจัดแมลงหวี่ขาวด้วย
ด้านนายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เผยว่า สถานการณ์การระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากแมลงหวี่ขาว ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มี 5 อำเภอ 18 ตำบล ได้แก่ อำเภอตาพระยา 5 ตำบล อำเภอโคกสูง 4 ตำบล อำเภอวัฒนานคร 5 ตำบล อำเภออรัญประเทศ 3 ตำบล และ อำเภอเมืองสระแก้ว 1 ตำบล ซึ่งผลสำรวจของสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้วพบการระบาดในพื้นที่ปลูก 5,638.25 ไร่ โดยจังหวัดสระแก้วได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุมและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อให้การยับยั้งและควบคุมสถานการณ์การระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังรวมถึงการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการการป้องกันการกำจัดหรือทำลายและช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร โดยเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขในการทำลายจะได้รับเงินชดเชยตามโครงการช่วยเหลือ โดยในพื้นที่อำเภอตาพระยามีจำนวน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านเขาลูกช้าง บ้านทัพเซียม บ้านทัพสยาม และตอนนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วมีเกษตรกรจำนวน 87 รายที่ยินยอมให้ทำลายแป้งมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลัง และ กำหนดพักแปลงอย่างน้อย 2 เดือน จะได้รับเงินค่าชดเชยไร่ละ 3,000 บาท และการทำลายนี้จะทำลายตามคู่มือของกรมวิชาการการเกษตรได้กำหนดไว้ สำหรับช่วงที่พักแปลง 2 เดือน แนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชอย่างอื่นและหลังจากพักแปลง เกษตรจังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตรจะได้ดำเนินการหาพันธุ์มันสำปะหลัง ที่ต่อต้านโรคได้ดีมาให้เกษตรกรเพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูกาลใหม่ใน เดือน พฤศจิกายน
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/