ปราจีนบุรี-มหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน

ปราจีนบุรี-มหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน

ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ

           สีสันงาน มหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน การแพทย์พื้นบ้าน เขมรไทยคล้ายกัน ดูดวงอาบน้ำมนต์

             วันนี้ 23 สิงหาคม 2562 ที่ ภูมิภูเบศร ต.บางเดชะ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ในการจัดงานมหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน จัดโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2562 นั้น ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศวันที่สองของงานเป็นไปอย่างคึกคัก
             นอกจากจะมีการเสวนาที่กลุ่มประเทศอาเซียนได้นำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างน่าสนใจแล้ว บรรยากาศของการจัดนิทรรศการ ตลอดจนการให้บริการตรวจรักษาและให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่แต่ละประเทศนำมาจัดแสดงก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
             จุดหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจมากคือ ส่วนของการให้ความรู้และบริการพอกยา รอบดวงตาเพื่อการผ่อนคลาย ลดความเมื่อยล้าของดวงตา ลดอาการปวดศรีษะและไมเกรน โดยผสมผสานสมุนไพรสามชนิดได้แก่ บอระเพ็ด บัวบก ฟ้าทะลายโจร บดละเอียด นำไปผสมกับไข่ขาวพอประมาณ ขั้นตอนคือชุบสำลีกับน้ำสะอาดพอหมาดนำไปแปะไว้ที่ดวงตาก่อนจะนำสมุนไพรที่ผสมกันพอกลงไปบนสำลีทิ้งไว้จนแห้งราว 15 นาทีและดึงแผ่นสำลีออก จะช่วยลดอาการดังกล่าวข้างต้นได้
              นอกจากนี้ยังมีการบริการพอกเข่าบรรเทาอาการปวดข้อ ข้อบวมอักเสบ สมุนไพรที่ใช้ในการพอกประกอบด้วย รากหรือเหง้าของดองดึง แป้งข้าวเจ้า ลูกแป้งข้าวหมาก น้ำขิงคั้น ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมาพอกบริเวณที่ปวด ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือจนกว่าจะแห้ง
              นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเด็กจากนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี และใกล้เคียง มาดูงานด้านสมุนไพร ที่ทางเจ้าภาพได้จัดทำฐานฝึกอบรมฐานการเรียนรู้สมุนไพรที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยบูธที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือ กัญชาสำหรับเยาวชน ที่มีการจัดเตรียมข้อมูลตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธ์ การปลูก ตลอดจนเทคนิคที่จะทำให้ต้นอยู่รอด และด้ารเคมีของสมุนไพร สารสำคัญที่มีผลต่อการรักษา ตามแนวคิด กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์
                ส่วนบรรยากาศในการเสวนา ดร.เทียง ฮวด (Theang Huot) จากประเทศกัมพูชา พูดในหัวข้อ การแพทย์ดั้งเดิมและพืชที่เป็นยาในกัมพูชา โดยบอกว่า ชาวกัมพูชายังคงเชื่อในการรักษาแบบการแพทย์แผนดั้งเดิมถึง 48% โดยเฉพาะคนในชนบทและที่เป็นโรคเรื้อรัง ทั่วประเทศมีหมอสมุนไพรทั้งสิ้นราว 2,000 คน ที่ยังคงใช้ความรู้ที่เรียนมาจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้โรคที่พบบ่อย 20 โรค เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวาร ท้องร่วง ท้องผูก จมูกอักเสบ ข้ออักเสบ ไวรัสตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ ไตอักเสบ กระดูกหัก เบาหวาน โรคผิวหนัง โรคทางนรีเวช เป็นต้น
                ส่วนรูปแบบการรักษามีความคล้ายคลึงกับแพทย์พื้นบ้านในมิติทางจิตวิญญาณและทางกายภาพ เช่น การทำนายสุขภาพ(ดูดวง) อาบน้ำมันต์ รักษาด้วยเหล็กร้อน เข้าเฝือก นวด ครอบแก้ว รวมถึงการใช้สมุนไพรทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุในการรักษา อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายต่อเรื่องการแพทย์ดั้งเดิม ยา และสมุนไพรที่ใช้ในการรักษา ขาดการควบคุมที่ดี สมุนไพรยังเป็นการเก็บจากป่า ตลาดสมุนไพรเป็นตัวเร่งให้เข้าไปเก็บสมุนไพรเพิ่มขึ้น และเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
                ด้านดร.เหวียน ทิ ง็อค จาม จากเวียดนาม ได้ทำการวิจัยว่านแร้งคอคำ โดยนำมาสกัดสารอัลคาลอยด์ นำมาทำเป็นยาชนิดใหม่ชื่อ CRILA เพื่อใช้ในการรักษาเนื้องอกมดลูกและต่อมลูกหมากโต โดยมีการทดลองทางคลินิกในโรงพยาบาลของรัฐ 5 แห่งในเวียดนาม พบว่ามีประสิทธิผลในการรักษา 89.18% สำหรับโรคต่อมลูกหมากโต และ 79.5% สำหรับเนื้องอกมดลูก
                ในส่วนของประเทศไทย คุณตาเพ็ง สุขบัว ปัจจุบันอายุ 100 ปี หมอยาพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญสมุนไพร บอกว่า ว่านแร้งคอคำเด่นทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี เอาหัวมาปลุกเสกแต่จะคุ้มครองได้ระยะหนึ่งเท่านั้น ตาเพ็ง ยังใช้ว่านแร้งคอคำรักษาผู้ชายปัสสาวะไม่ออก ต่อมลูกหมากโต โดยใช้ใบต้มน้ำกิน
                  หมอยาปราจีน ลุงเฉลา คมคาย ปลูกไว้ประจำบ้าน เป็นพันธุ์บ้านลุงเหลา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้นำมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นยารักษาอาการต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก ความรู้เรื่องการใช้ว่านแร้งคอคำกับปัญหาต่อมลูกหมากถือเป็นความรู้ร่วมของหมอพื้นบ้านไทยและเวียดนาม
                  ขณะที่ ตอเลส เทเรซ่า เอ็ม (TORRES TERESA M.) จากสถาบันการแพทย์ดั้งเดิมฟิลิปปินส์และสุขภาพทางเลือก นำเสนอการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่นฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า ฟิลิปปินส์เป็น 1 ใน 18 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก มีพืชพรรณกว่า 70% ของโลก มีสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นสูงมาก แต่การบูรณาการการใช้สมุนไพรในระบบสาธารณสุข พบว่าแพทย์ยังไม่ค่อยแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาสมุนไพรเนื่องจากยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าการใช้สมุนไพรจะเป็นยาหลักในพื้นที่ชนบทก็ตาม
                  ด้าน ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พูดเรื่องพรีไบโอติกส์ จากตำรับอาหารไทยและภูมิปัญญาไทย โดยระบุว่า ผักดองของไทยให้จัดเป็น พรีไบโอติกส์ คืออาหารของเชื้อที่ดีในระบบทางเดินอาหารและ ช่วยปรับสมดุลท้องไส้ ในระบบทางเดินอาหารของเราจะมีแบคทีเรียตัวดี ที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากลำไส้และอาหารที่จำเป็น คือพรีไบโอติกส์ที่มาจากอาหารหมักนั่นเอง ส่วนโพรไบโอติกส์คือ กองกำลังหรือจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ หรือแบคทีเรียดี มีหน้าที่หลายอย่าง ทั้งช่วยทำลายสารพิษในลำไส้ สร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายป้องกันแบคทีเรียก่อโรค จากการศึกษาพบว่า ในผักดองหลายตำรับของไทยอุดมไปด้วยโพรไบโอติกส์ และ พรีไบโอติกสที่เป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ เป็นส่วนช่วยป้องกันการเกิดโณคในระบบต่างๆ เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร ภูมิคุ้มกัน ผื่นแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้ และการติดเชื้อปัสสาวะ ได้ ดังนั้นพรีไบโอติกส์จึงเป็นอาหารอีกกลุ่มที่มีความสำคัญและเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพ

               สำหรับงานมหกรรมภูมิปัญญาอาเซียน จะมีไปจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม โดยในวันสุดท้ายของงาน จะมีไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้คือ การเสวนาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศไทย” โดยมี ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะบรรยายในหัวข้อ “กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์”

                 ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร พูดถึงเทคนิคและวิธีการปลูกกัญชาในประเทศไทย ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว บอกเล่าถึงสถานการณ์การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีผู้มีประสบการณ์ตรงจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาในต่างประเทศ คุณจันทร์เพ็ญ ชัยวงศ์ขจร ท่านสุดท้ายคือ ดร.ประสาท กิตตะคุปต์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการวิจัยกัญชามายาวนาน โดยเพจเฟซบุ๊ก สมุนไพรอภัยภูเบศร ถ่ายทอดสดตลอดการเสวนา

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!