นครปฐม-ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย กับบทบาทใหม่ รองผู้อำนวยการ iNT ม.มหิดล

นครปฐม-ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย กับบทบาทใหม่ รองผู้อำนวยการ iNT ม.มหิดล

ภาพ/ข่าว:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน

ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย
กับบทบาทใหม่ รองผู้อำนวยการ iNT ม.มหิดล
ชี้ทุกคนสามารถสร้าง innovation ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้

     ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ศิษย์เก่าปริญญาตรี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้าทุนปริญญาโท-เอก จาก มหาวิทยาลัย The University of Edinburgh สหราชอาณาจักร และดีกรีหลังปริญญาเอก จาก University of Rochester Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา
     ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย เล่าว่า หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตั้งใจเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อรักษาอุดมการณ์ของโรงเรียนที่ให้ปลูกฝังให้รักวิทยาศาสตร์ และเลือกเรียนฟิสิกส์ เนื่องจากชอบค้นหา สรรค์สร้างสิ่งใหม่ และสนใจเรื่องการสร้างงานนวัตกรรม (innovation) โดยเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมนักศึกษาไทยที่ชนะการประกวดโครงการ Student Zerogravity Flight Experiment Contest ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2550 โดยได้มีโอกาสร่วมปฏิบัติการทดสอบจริงในสภาพไร้น้ำหนักบนเครื่องบินที่องค์กรสำรวจการบินอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
    “ทุกคนสามารถสร้าง innovation ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิจัย ด้วยการคิดหาวิธีการใดๆ ก็ตามที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น เหนื่อยน้อยลง แต่ได้ผลงานมากขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น โลกใบนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทุกคนพยายามที่จะสร้างสรรค์ innovation ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การทำงานของแต่ละคน
ปัจจัย 3 ประการที่ก่อให้เกิด innovation ประการแรกคือ จะต้องเป็นสิ่งใหม่ (new) ประสองที่สองคือ จะต้องมีคุณค่าเกิดขึ้นใหม่ (value) และประการที่สามคือ จะต้องมีผู้ใช้ (user) ส่วนใหญ่งานวิจัยจะมีอยู่เพียงสองอย่าง คือ new กับ value แต่ยังไม่มีผู้ใช้ ซึ่งในเมื่อไม่มีผู้ใช้ ก็ไม่สามารถทำเป็นธุรกิจได้ โดยในบทบาทของ iNT สิ่งที่เราทำ ก็คือ การจุดประกาย และสร้างทางเลือกสำหรับนักวิจัยให้มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพทางวิชาการที่มีอยู่แล้ว เพื่อมุ่งไปในทางธุรกิจได้อย่างไรบ้าง โดยระหว่างทาง “จากหิ้งสู่ห้าง” จะมีเราคอยช่วยเหลือมองหาโอกาสอื่นๆ นอกจากโอกาสทางวิชาการให้กับนักวิจัย โดย iNT จะทำหน้าที่อย่างครบวงจร ตั้งแต่รวบรวมและตรวจสอบผลงานวิจัย ทำให้เกิดการ license ซึ่งหมายรวมไปถึงการจดสิทธิบัตร และการเจรจาต่อรองกับภาคธุรกิจ”
    “ถ้ามองในภาพใหญ่ การช่วยผลักดันงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ อาจจะไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่จะเป็นทางรอดของมหาวิทยาลัย เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยอาจอยู่ได้เพราะค่าเล่าเรียนของนักศึกษา แต่ต่อมาจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องรับภาระจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย มหาวิทยาลัยจึงต้องหาเงินเอง โดยส่วนหนึ่งที่จะทำได้ก็คือ การผลักดันงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ ซึ่งพอธุรกิจเกิดขึ้น ก็จะเกิดเป็น impact ต่อคนในวงกว้าง เพราะผู้ใช้ก็จะกว้างขึ้น เป็นหลักการของ Technology Transfer หรือการที่จะทำอย่างไรให้งานวิจัยจากห้องแลป ได้ transfer ไปสู่โลกภายนอก แล้วเกิดการใช้ในวงกว้าง ซึ่งเป็นข้อดีที่นอกจากงานวิจัยจะได้มีผู้ใช้ นักวิจัยก็จะได้นำผลตอบแทนทางธุรกิจที่ได้รับกลับมาเป็นเงินทุนสำหรับการทำงานวิจัยต่อๆ ไปได้ด้วย เป็นการได้ประโยชน์หลายฝ่าย” ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย กล่าว
     ในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2562 เวลา 8.00 – 17.00 น. จะมีการจัดกิจกรรม Visual Thinking and Storytelling #2 ณ ห้อง 235 “MaSHARES Co-working and Makerspace” ชั้น 2 อาคารอทิตยาทร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วิทยากรโดย คุณภาวินี  เจือติระรักษ์ หรือ คุณโอ๋ (เจ้าของ Page FB: Visual Thinking Thailand) ผู้สนใจลงทะเบียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ www.facebook.com/iNT.Mahidol.University/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!