สตูล-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเผยเคล็ดไม่ลับวางแผน เสียสละ ใจรักและโปร่งใส

สตูล-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเผยเคล็ดไม่ลับวางแผน เสียสละ ใจรักและโปร่งใส

ภาพ/ข่าว:ชิดชนก​ พุดทอง

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา เผยเคล็ดไม่ลับวางแผน เสียสละ ใจรักและโปร่งใส

       ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล ตั้งอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง แต่การบริหารจัดการของศูนย์เด็กเล็กฯที่นี่ กลับพบว่าไม่ธรรมดา โดดเด่นถึงขั้นมีรางวัลการันตีมากมายจากหลายหน่วยงาน
       โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยกย่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา ต.กำแพง อ.ละงูจ.สตูล ซึ่งอยู่ในการดูแลของ องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ด้านการบริหารจัดการอาหารกลางวัน อีกทั้งให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนทั่วประเทศ ที่ได้เงินอุดหนุนสำหรับการสนับสนุนอาหารกลางวัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่
       สำหรับเมนูอาหารกลางวันวันนี้คุณครูช่วยกันปรุงแต่งอาหาร จัดจานด้วยเมนู “ข้าวคลุกกะปิ – น้ำซุบ ผลไม้สัปปะรด” โดยทุกเมนูจะต้องมีสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีทั้งผัก ผลไม้ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วัตถุดิบส่วนใหญ่จะจัดหาในพื้นที่เนื่องจากมีความพิเศษติดชายทะเล มีทรัพยากรทางน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีผักที่ชาวบ้านปลูกปลอดสารพิษ
       โดยเมนูในสัปดาห์นี้ นอกจากข้าวคลุกกะปิ – อาหารว่าง นม ตะโก้ และผลไม้สัปปะรดแล้ว ,วันอังคาร เป็นเมนู แกงจืดกะหล่ำปลียัดไส้ไก่ ทอดมัน อาหารว่าง นม วุ้นกะทิ ผลไม้องุ่น , วันพุธ แกงกะทิกุ้งสัปปะรด ปลาหมึกผักกวางตุ้ง อาหารว่าง นม ขนมปุยฝ้าย ผลไม้ลองกอง , วันพฤหัส ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ เกี้ยวทอด อาหารว่าง นม คุกกี้ ผลไม้ฝรั่ง และวันศุกร์ กะเพราไก่ ไข่ดาว อาหารว่างนม ขนมไข่สอดไส้ และผลไม้แตงโม โดยทุกเมนูคุณครูก็จะให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการแนะนำเมนูอาหารด้วย
        เด็ก ๆ หลายคนสนุกสนาน และร่าเริง และชื่นชอบที่จะมาศูนย์เด็กเล็กที่นี่ แม้จะมีการขยายพื้นที่ศุนย์เด็กเล็กในหลายแห่ง แต่คุณครูที่โรงเรียนแห่งนี้ยังมุ่งมั่นและตั้งใจจะมอบสิ่งพิเศษให้กับเด็กๆ และผู้ปกครองเกิดความประทับใจในการดูแลบุตรหลาน
        นางฝ่าตี่ม๊ะ รายา หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา บอกว่า ตลอด 4 ปีที่ทำอยู่แบบนี้ในการจัดอาหารกลางวันให้กับเด็ก ๆ หลักสำคัญในการบริหารจัดการคือ 1 การวางแผนใช้จ่ายอย่างไรเพื่อไม่ให้เกินงบประมาณ ต้องคิดเมนูล่วงหน้าไว้หนึ่งเดือนเฉลี่ยเมนูยากบ้าง ง่ายบ้าง 2.ต้องโปร่งใส ไม่ให้เกิดการคอรัปชั่นด้วยการสร้างไลน์กลุ่มผู้ปกครองและคณะผู้บริหารภายในศูนย์ฯให้รับรู้ความเคลื่อนไหวตลอดด้วยการบันทึกภาพถ่ายให้ดูทุกวัน  3.หัวใจหลักคือต้องร่วมมือกัน เสียสละทั้งคุณครูและแม่บ้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับเด็ก ๆ ในการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งที่นี่มีความพิเศษคืออยู่ใกล้ทะเลผู้ปกครองก็เป็นชาวประมง อาหารที่ได้จึงสด ใหม่ สะอาด และถูกซื้อบ้างแถมบ้างจากคนในชุมชน ปลอดสารพิษเนื่องจากคนในชุมชนปลูกเองไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางจึงสามารถจะซื้อได้ในราคาถูก

         ความเสียสละ ทุ่มเท ของคุณครูและแม่ครัวเป็นส่วนสำคัญในการที่จะบริหารจัดการออกมาได้โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อลูกหลานของเราในชุมชนทำทุกครั้งที่ปรุงอาหารเสมือนทำให้ลูกให้หลานของเราทาน ความรู้สึกอิ่มเอมและมีความสุข

          หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าแลหลา ยอมรับว่า การมาทำตรงนี้ยอมรับว่าหนักพอสมควรเพราะหน้าที่ครูก็หนักพออยู่แล้ว ต้องเสียสละจริงๆ เพราะจะต้องแบ่งเวลาจากการเรียนการสอนมาช่วยแม่ครัวอีกแรงหนึ่ง ซึ่งจะต้องแบ่งเวลาและหน้าที่ บางครั้งการจัดแต่งผลไม้ก็เอามาทำในช่วงการเรียนการสอนในคาบวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ การให้ความสำคัญในการจัดการการตกแต่งอาหาร ให้น่ารับประทานมีสีสัน คุณครูเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น และเห็นว่าเด็ก ๆ ก็สามารถที่จะเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย ทั้งในเรื่องของสีสันรูปทรง ขนาด รวมไปถึงเมนูอาหารด้วยที่จะทำให้เด็กไม่เบื่ออาหาร

         จากตัวชี้วัดที่พบว่า ก่อนหน้าเด็กจะมาเรียนยังศูนย์แห่งนี้ไม่ค่อยรับประทานอาหาร แต่หลังจากที่มีการจัดจานอาหารให้สวยงามน่ารับประทาน พบว่าเด็ก ๆ รับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น และเด็กมีพัฒนาการน้ำหนัก ส่วนสูง เป็นไปตามเกณฑ์ พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้กับศูนย์เด็กเล็กอื่นๆ ถ้าต้องการจะทำ จะต้องเกิดจากความร่วมมือให้ร่วมมือ เสียสละจริงๆ ในขั้นตอนนี้และเชื่อว่าทุกศูนย์ก็จะทำได้. แม่ครัวก็มีส่วนสำคัญที่ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อธุรกิจอะไร ทุกคนต้องการทำอาหารเพื่อให้ลูกให้หลานรับประทานของดีมีคุณภาพจริงๆ คุณครูเองก็ต้องเสียสละจากการเรียนการสอนมาดูแลในส่วนตรงนี้ ซึ่งก็เชื่อมโยงกันอยู่แล้วที่จะต้องดูแลเด็ก ๆ อยู่แล้ว นอกจากการเรียนการสอนแล้ว ความปลอดภัยอาหารก็สำคัญสำหรับเด็กเหมือนกัน หลังจากรัฐบาลจัดสรรให้งบ 20 บาททำมานานกว่าสี่ปีแล้ว ก็พอที่จะอยู่ได้ไม่ได้เกินอะไร หากบริหารจัดการให้ดี ปรับเปลี่ยนเมนูยากบ้าง ง่ายบ้าง แต่ต้องครบ 5 หมู่

           นายหมอดดี สําสู ศิลปินท้องถิ่น นักร้องนำวงกัวลาบารา (สามีหัวหน้าศูนย์เด็กเล็กฯ) กล่าวว่า นอกจากจะเป็นเขยที่ชุมชนบ้านท่าแลหลาแล้ว ได้เข้ามาช่วยดูแลตกแต่งสถานที่ศูนย์เด็กเล็กที่นี่อยู่เป็นประจำ อีกหนึ่งแรงผลักดันจากครอบครัวมีส่วนสำคัญมากในการที่จะเสียสละเพื่อเด็ก ๆ สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อของหัวหน้าศูนย์ฯ ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาของชุมชนที่นี่ ได้ขอให้ทำทุกอย่างเพื่อเด็กๆ และทำให้ดีที่สุด จากคำของ ของพ่อได้ติดตัวมาตลอดทำให้คิดจะทำอะไรแต่สิ่งดีๆ เพื่อเด็ก ๆ และลูกหลาน ให้สิ่งดี ๆ กับเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกคนในครอบครัวโดยส่งเสริมและให้กำลังใจ เข้าอกเข้าใจตลอด

            นอกจากนี้ตัวเองในฐานะเป็นศิลปินในพื้นที่ ได้นำบทเพลงจากวงกัวลาบารา มาขับร้องและเปิดให้ เด็ก ๆ ได้ฟัง โดยแนวเพลงของตน ไม่มีพิษไม่มีภัย ไม่สองแง่สามง่าม เป็นบทเพลงที่จะสอนให้เด็ก ๆ ได้รักษ์บ้านเกิดและรักษ์ธรรมชาติ หากเราได้ใส่สิ่งดี ๆ เข้าไปเด็กก็จะจดจำรับแต่สิ่งดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหารและบทเพลงก็ตาม ซึ่งทางตนก็จะได้ทำเพลงให้กับทางศูนย์เด็กเล็กบ้านท่าแลหลา โดยวันที่ 12 นี้จะทำบทเพลงปูเสฉวน โดยนำเด็ก ๆ ไปร่วมแสดงใน MV ด้วย

           นอกจากนี้ชุมชนมีส่วนสำคัญมากๆที่จะทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ มีวันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของบุคลากร ซึ่งเป็นครูอาหารที่ออกมาได้ดีเพราะเรามีทรัพยากรมีต้นทุนที่ดี

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!