สระแก้ว-ละลุ ประติมากรรมธรรมชาติ ที่งดงาม ยากที่มนุษย์จะเลียนแบบได้
ภาพ/ข่าว:สวาท เกตุงาม
ขอบคุณภาพ:ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวละลุ บ้านคลองยาง
ละลุ ประติมากรรมธรรมชาติ ที่งดงาม ยากที่มนุษย์จะเลียนแบบได้
ละลุ มาจาก รากศัพท์ เดิม คือ ระลุ โดยคำว่า ระลุ เป็นภาษาเขมร แปลว่า พังทลาย หรือ หลุดร่วงกระทั่งเป็นรูโบ๋ หรือแปลอีกความหมายหนึ่ง คือทะลุเป็นรูโบ๋ ที่เกิดจาก ดินเหนียวผสมกับดินทราย และก้อนกรวดเล็ก ๆ เกาะกันหลวม ๆ เมื่อฝนตก เม็ดฝนจะชะดินทรายออกไป เหลือเพียงดินดินเหนียวกับก้อนกรวดเล็กๆ ยึดเกาะกันอยู่ มองเห็นเป็นร่องลึก คล้ายแกะสลัก ตั้งตระหง่าน คล้ายภูเขาบ้าง คล้ายปราสาทบ้าง สูงบ้างต่ำบ้าง สลับกันไป ดูเป็นศิลปะงดงามแปลกตา เป็นสิ่งมหัศจรรย์ตามธรรมชาติหาที่ติมิได้
ระลุ หรือ ละลุ เป็นภาษาเขมร คนเขมรจะออกเสียง ร ได้ชัดเจน ต่อมามีชาวอีสาน อพยพมาตั้งถิ่นฐาน อยู่ที่บ้านคลองยาง ต.ทัพราช อ.ตาพระยา การออกเสียง ระลุ จะผันลิ้นไม่ถนัด จึงออกเสียง ละลุ แทน ซึ่งง่ายต่อการออกเสียง
การเกิด ละลุ เกิดจากลม หรือ หยดน้ำฝน ชะเอาดินทรายออก ทำให้เกิดเป็นร่องลึก คล้ายกับแกะสลัก ที่เกิดจากน้ำฝน หรือ เกิดจากแรงลมพัด ทำให้เกิดการสึกกร่อน เป็นประติมากรรม ที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ ที่งดงามตามธรรมชาติ ยากที่จะเลียนแบบได้ และจากการกัดเซาะของน้ำฝน ทำให้เกิดรูปลักษณ์ของละลุ ที่แตกต่างกันออกไป คล้ายปราสาทบ้าง คล้ายภูเขาบ้าง คล้ายกำแพงบ้าง คล้ายเสาบ้าง แล้วแต่จะจินตนาการกันไป ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่นับพันไร่
ละลุ ตั้งอยู่ที่บ้านคลองยางและบ้านเนินขาม ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยาจังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสระแก้ว ประมาณ 90 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอตาพระยา ประมาณ 30 กิโลเมตร การเดินทางสะดวก แต่เมื่อถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นที่จอดรถของนักทีองเที่ยว จะมีอาคารบริการห้องน้ำ และแสดงนิทรรศการความเป็นมาของละลุ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าไปดูละลุ ห้ามนำรถส่วนตัวและรถนักท่องเที่ยวเข้าไป ไม่เก็บค่าบริการแต่จะให้เช่ารถอีแต็ก ของชาวบ้าน เดินทางเข้าไป คันละ 200 บาท ไปกลับ แต่ละคันนั่งได้ถึง 10 คน ส่วนเวลาที่เหมาะสมในการเข้าไปชม ควรเป็นเวลาช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เพราะแดดอ่อน ส่วนกลางวัน แดดจัด ร้อนมาก อาจจะรู้สึกแสบตา เพราะพื้นที่และดินละลุ จะมีออกขาว หรือน้ำตาล เข้ม ถ้าจะให้ดีควรสวมแว่นดำด้วย เพื่อถนอมสายตา
การเดินทางเข้าไปชมละลุ นอกจากจะได้ชมประติมากรรมธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังได้ชมวิถีชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น การตีมีดโบราณ การปั้นหม้อดิน เป็นต้น
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/