การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยครอบครองปรปักษ์
คอลัมน์:เฮฮาภาษากฏหมาย
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยครอบครองปรปักษ์
การครอบครองปรปักษ์ (adverse possession หรือ hostile possession) คือ การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ บุคคลผู้ครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายไทย ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น
ดังนั้น หากผู้ใดครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ตามกำหนดเวลาและหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้นั้นย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น สำหรับการครอบครองสังหาริมทรัพย์จะไม่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่นัก ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นก็คือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เช่น การครอบครองที่ดิน เป็นต้น การครอบครองเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069/2554 ต่อไปนี้
พิพากษาศาลฎีกาที่ 1069/2554 นางพาน บัวทอง โจทก์ นายมานพ สิงห์ศิลา กับพวก จำเลย
คำให้การของจำเลยที่ว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจำเลยเอง หากไม่ใช่ที่ดินของจำเลย จำเลยก็ได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะคำให้การของจำเลยในตอนหลังขัดแย้งกันคำให้การของจำเลยในตอนแรกคำให้การในตอนหลังนี้เท่ากับจำเลยได้ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยแต่จำเลยครอบครองติดต่อกันโดยสงบเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี เมื่อคำให้การของจำเลยขัดแย้งกัน จึงเป็นคำให้การที่ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์มีได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 โจทก์ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 14218 ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย จำเลยทั้งสองคัดค้านแนวเขตที่ดินด้านทิศใต้ว่าโจทก์นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่จำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ เจ้าพนักงานที่ดินเปรียบเทียบแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านแนวเขตที่ดินพิพาทหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์นำรังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 145 ของจำเลยทั้งสอง โดยมีคันนาเป็นแนวเขตชัดเจน มีจอมปลวกและไม้ยืนต้นอยู่ตรงแนวเขต จำเลยทั้งสองทำนาอยู่ในที่ดินพิพาทมากว่า 40 ปี ไม่เคยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองรุกล้ำที่ดินพิพาทจริง ที่ดินพิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองโดยการครอบครอง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้ระบุตำแหน่งและจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านแนวเขตที่ดินพิพาท หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 14218 เนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 38 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 145 เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.3 ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 4 ตารางวา อยู่ในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า คำให้การของจำเลยทั้งสองมีประเด็นเรื่องจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 14218 แต่ไม่อาจดำเนินการรังวัดให้เสร็จสิ้นได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองคัดค้านแนวเขตที่ดินของโจทก์จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสองคัดค้านเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองหากไม่ใช่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็ครอบครองโดยสงบ เปิดเผยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชัดแจ้ง เพราะคำให้การจำเลยทั้งสองตอนแรกยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ส่วนในตอนหลังกลับให้การว่าหากไม่ใช่ที่ดินของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็ได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองตามกฎหมาย เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นของจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองครอบครองติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี คำให้การของจำเลยทั้งสองในตอนหลังจึงขัดแย้งกับคำให้การจำเลยทั้งสองในตอนแรก จึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์มีได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 14218 ที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม เดิมเป็นที่ดินมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 145 ของจำเลยทั้งสองทับซ้อนกันอยู่ การที่จะพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองของโจทก์ก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดิน พยานโจทก์ได้แก่โจทก์ จ่าสิบเอกเกลี้ยง และนายนเรศไม่เคยมีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินคงมีแต่นายนเรศที่เบิกความว่า เคยช่วยนายวนบิดาทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทแต่ก็ไม่ทราบว่าที่ดินแปลงพิพาทมีแนวเขตถึงบริเวณใด ส่วนจำเลยทั้งสองมีนายทองมาเอี่ยม ซึ่งเคยเช่าที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองทำนา มาเบิกความสนับสนุนว่าพยานเคยเช่าที่ดินทั้งของโจทก์และจำเลยทั้งสองทำนา ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่พยานเช่าจำเลยทั้งสองทำนา หลังจากเลิกเช่าที่ดินของฝ่ายจำเลย นายดอกรักและจำเลยที่ 2 เข้าไปทำนาต่อมาจนกระทั่งนายดอกรักถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 ยังทำนาอยู่จนถึงปัจจุบัน เห็นว่า นายทองเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด และยังเบิกความด้วยว่ารู้จักและสนิทสนมกับโจทก์และจำเลยทั้งสอง ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองใด ๆ คำเบิกความของนายทองจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง
ทั้งนายนเรศพยานโจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านสอดคล้องกับคำเบิกความของนายทองว่า ปัจจุบันจำเลยทั้งสองยังทำกินในที่ดินพิพาทอยู่ ที่นายทองเบิกความว่า เช่าที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองทำนามาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี แต่กลับเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า เมื่อปี 2537 พยานยังไม่ได้เช่าที่ดินของโจทก์ทำนาแม้จะขัดแย้งกันเองอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ถึงขนาดเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด ทั้งการที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของนางไว ก็ได้ความตามใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงเอกสารหมาย ล.2 ว่า นางอนงค์สิงห์ศิลา จำเลยที่ 2 ไม่มาระวังชี้แนวเขต การที่จำเลยทั้งสองไม่คัดค้านการออกโฉนดที่ดินของนางไวจึงอาจเป็นเพราะจำเลยทั้งสองไม่ทราบเรื่องที่นางไวชี้แนวเขตที่ดินพิพาทว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของนางไว จึงไม่ได้คัดค้านพยานจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทต่อเนื่องกันตลอดมา ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองถอนคำคัดค้านแนวเขตที่ดินพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ..