ราชบุรี-เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าดักจับลิงกัดหัวเด็ก

ราชบุรี-เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าดักจับลิงกัดหัวเด็ก

ภาพ/ข่าว:สุจินต์ นฤภัย(เต้)

         ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) จ.ราชบุรี เข้าตรวจสอบพื้นที่หมู่บ้าน หลังมีลิงกัดหัวเด็กชายวัย 3 ขวบ บาดเจ็บ พร้อมวางกรงดักจับตัวเพื่อทำหมันและนำไปปล่อยในที่เฉพาะห่างจากชุมชน

         วันที่ 25 ธ.ค.62 นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) จ.ราชบุรี และนางสาวลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง ) เข้าตรวจสอบบริเวณบ้านที่อยู่อาศัยของนางสาววาสนา อำนวลใจ เลขที่ 260/1 หมู่ 1 ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี หลังลิงที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นทำร้ายขย้ำกัด น้องอิ๊กคิว อายุ 3 ปี บริเวณศีรษะ ใบหน้า ใบหู เป็นแผลเหวอะ ได้รับบาดเจ็บ ต้องส่งตัว ไปรักษาที่โรงพยาบาลราชบุรี เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า จะมีลิงอยู่ประมาณ 3-4 ตัว ได้ลงมจากอุทยานหินเขางู เพื่อลงมาหาของกินตามบ้านเรือนของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการรื้อค้นสิ่งของตามบ้านเรือนของประชาชนเพื่อหาของกิน โดยเวลาที่ลิงจะลงมาตามบ้านเรือนของประชาชนจะเป็นช่วงเช้า และช่วงบ่าย ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณดังกล่าว
         นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า สำหรับลิงที่อยู่บริเวณอุทยานหินเขางู ได้มีการแก้ปัญหาเป็นมาตรการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนระยะสั้นนั้นได้ให้สัตวแพทย์มาดำเนินการวางกรงเพื่อดักจับลิงที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายเด็ก เข้าใจว่าเป็นลิงที่อยู่ในฝูงใหญ่ไม่ได้ จึงมีพฤติกรรมออกมาหากินข้างนอกฝูง เมื่อจับได้ก็จะได้เจ้าหน้าที่ทำหมัน พร้อมนำไปปล่อยที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประทับช้าง เป็นการแก้ไขปัญหาลิงที่ทำร้ายคนออกจากพื้นที่ชุมชน เพื่อนำไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะจำกัด เฉพาะตัวที่มีพฤติกรรมดังกล่าวก่อน
         ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวในภาพรวมนั้นเนื่องจากลิงที่บริเวณดังกล่าวมีจำนวนมากกว่าพื้นที่ที่จะรองรับได้ ทางสัตวแพทย์ได้ทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จะมีโครงการควบคุมประชากรลิง ให้ลิงที่ทำหมันแล้วอยู่ในพื้นที่เดิม แต่การทำหมันจะต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นด้วย
         นางสาวลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เปิดเผยว่า ส่วนลิงที่แตกฝูงอยู่ร่วมกับฝูงอื่นไม่ได้ เป็นลิงประมาณ 2-3 ตัว จะมีการดำเนินการสร้างกรงดัก จะตั้งบริเวณที่หากิน หรือที่หลับนอน จะใส่อาหารไว้ในกรงเพื่อล่อมัน ลักษณะเป็นกรงที่สามารถปิดได้เอง จากนั้นก็จะนำไปทำหมัน ส่วนกรณีที่ลิงทำร้ายเด็กนั้นคิดว่าด้วยขนาดตัวของเด็กใกล้เคียงกับลิงซึ่งจะมองดูก่อนและคิดดูก่อนในการที่จะเข้าไปทำร้าย แต่กรณีนี้เด็กอาจจะยื้อแย่งสิ่งของ หรือเด็กดึงของไว้ไม่ปล่อย ทำให้ถูกลิงกัด
          ส่วนของผู้ใหญ่ที่อยากแนะนำเด็กๆที่มีบ้านหรืออยู่ใกล้โรงเรียน ถ้ามีข้าวของที่มีสีสันล่อตาลิง ถ้าลิงเข้ามาจะเอาไป ก็ให้เด็กคนนั้นปล่อยสิ่งของไป อย่ายื้อแย่งเพื่อป้องกันลิงจะมากัดทำร้าย ถ้ามีการสัมผัสลิง หรือโดนลิงกัด ให้รีบทำแผลทำความสะอาด พาเด็กไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

          อย่างไรก็ตามหลังสำรวจพื้นที่เสร็จทางเจ้าหน้าที่ได้นำกรงดักสัตว์มาวางดักล่อลิง จำนวน 2 จุด บริเวณบ้านของน้องอิ๊กคิว ที่ถูกลิงกัด และบริเวณใกล้ ๆ ต้นมะม่วงของชาวบ้านที่ลิงชอบลงมากิน มีการนำน้ำอัดลมสีแดง มีขนมห่อที่มีสีสันสะดุดตา รวมทั้งขนุน ผูกใส่ไว้ในบริเวณกลางกรงตาข่ายเหล็ก พอลิงเข้าไปกินอาหารข้างในกรงก็จะปิดเองโดยอัตโนมัติ ท่ามกลางความหวังของชาวบ้านว่าจะสามารถจับเจ้าลิงตัวดังกล่าวได้สำเร็จ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบลิงตัวดังกล่าว

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!