ชัยนาท-ปศุสัตว์ซ้อมแผนเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
ภาพ/ข่าว:ธนพนธ์ แสงทอง
ปศุสัตว์ชัยนาทซ้อมแผนเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
วันที่ 5 ส.ค.62 น.สพ.ประภาส ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 เป็นประธานเปิดโครงการฝึกการซักซ้อมแผน เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะหน้าที่ (functional exercise) ณ ห้องประชุมเรือนรับรอง สวนนกชัยนาท ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท
นายนพพร แก้วกนิษฐารักษ์ ปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : AFS) เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ (ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ, ยุโรป 20 ประเทศ, เอเชีย 6 ประเทศ) เอเชียมีการแพร่ระบาดที่ประเทศจีน มองโกเลีย เกาหลีเหนือ เวียดนาม กัมพูชา และล่าสุดที่ สปป.ลาว ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนแต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลการทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิตและยิ่งไปกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100% โดยจากการประเมินมูลค่าความเสียหายหากมีการระบาดของโรคนี้ในจังหวัดชัยนาทจะมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมความเสียหายทางสังคม และเนื่องจากมูลค่าความเสียหายมหาศาล ปรกอปรกับผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงสุกร และความมั่นคงทางอาหารของประชาชน
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ จึงมีการซักซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะหน้าที่ (functional exercise) ตามแผนการรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ผู้เลี้ยงสุกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบมาตรฐานการปฏิบัติงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรที่ถูกต้อง เพื่อทดสอบและประเมินขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบเฉพาะด้าน รวมทั้งบทบาทที่ใช้ในการเผชิญกับสถานการณ์เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
การจัดโครงการฝึกการซักซ้อมแผนฯ ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือเป็นอย่างดีจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาทเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร และภาคเอกชนประมาณ 120 คน
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/