พช. ปั้น “นักพัฒนา” สืบสานศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ ตามแนวทาง ”โคกหนองนาโมเดล”

พช. ปั้น “นักพัฒนา” สืบสานศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ ตามแนวทาง ”โคกหนองนาโมเดล”

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

         พช. ปั้น “นักพัฒนา” สืบสานศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ ตามแนวทาง ”โคกหนองนาโมเดล”

          วันที่ 19 ธันวาคม 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  เป็นประธานปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรผู้นําการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” กลุ่มเป้าหมาย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 90 คน ซึ่งเข้ารับการอบรมระหว่างวันที่  17-19 ธันวาคม 2562 พร้อมทั้งรับฟังการนำเสนอยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการพัฒนาชุมชนสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

           โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ บรรยายพิเศษ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่า ขอให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจศาสตร์ของในหลวง ร.9 ที่พระองค์พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย และขอให้น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้บรรลุผลได้อย่างชัดเจน
            ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า ในหลวง ร.9 กษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ UNDP Human Development Lifetime Achievement Award รางวัลเกียรติยศด้านการพัฒนาของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทุกท่านในฐานะ “นักพัฒนา” ผู้ที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อ จำเป็นต้องแม่นทฤษฎี มีจิตวิญญาณในการพัฒนา และทำหน้าที่ประสานเซียน” อีกทั้งจะต้องมีความรอบรู้ ในเรื่องดังนี้ 1) สถานการณ์ปัจจุบัน 2) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) 3)การนำไปปฏิบัติสู่เป้าหมายความยั่งยืน (Implementation to SDGs) และ 4) การพัฒนาพัฒนาคน ตลอดจนให้นำหลัก 10 ประการ คือ ความรู้ดี มีสัจจะ เสียสละเพื่อสังคม นิยมประชาธิปไตย ใช้เหตุผล อดทนต่อหน้าที่ หลีกหนีอบายมุข หาความสุขจากธรรมะ เลิก ละ ทิฐิ และมีสติครองตน ในการดำเนินงานในหน้าที่ของตนเอง”
           นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด ดังนั้น บุคลากรของกรมฯ จึงจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความรู้ ปลุกพลังในตัวเอง เตรียมตัวเองให้มีความพร้อมเพื่อดำเนินการตามบทบาทภารกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ การทำหน้าที่ในการพัฒนาคน และสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นฐานในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง
            กรมฯ จึงได้กำหนดให้มีการดำเนินโครงการ “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นโครงการเตรียมความพร้อมใน 4 มิติ คือ คน ความรู้ เครือข่าย และการขยายผล ดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชนและบุคลากรใน 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาในการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนในพื้นที่ เป็นการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้แข็งแกร่งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก” มุ่งหวังให้เกิดการแก้ปัญหาประเทศและปัญหาวิกฤตโลก ใน 3 ประเด็นที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ ด้านน้ำ ด้านอาหาร และด้านพลังงาน  ตลอดจนเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคี ด้วยการบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วม
              กรมฯ ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องมีศูนย์กลางและเครือข่ายรองรับการดำเนินการ การฝึกอบรม เปรียบเสมือนวิทยาเขต ของศูนย์กสิกรรมมาบเอื้อง จำนวน 18 แห่ง ในการสร้างองค์ความรู้ในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาในการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประสานงานช่วยเหลือในยามเกิดภัยพิบัติ ที่เป็นที่พึ่งของประชาชนในประเทศได้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาและลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียได้ มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ตามศาสตร์พระราชาที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม อาทิ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการนำร่องการขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ สืบสานพระราชปณิธานอันจะสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก น้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการปฏิบัติ และการขยายผลศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสนับสนุนให้ชุมชนโดยรอบพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน มีความเข้มแข็ง บุคลากรในสังกัดของกรมการพัฒนาชุมชนมีศักยภาพ และได้รับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกับชุมชน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้
                 ทั้งนี้ กรมฯ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จำนวน 11 แห่ง (สระบุรี, ชลบุรี, อุบลราชราชธานี, อุดรธานี, นครราชสีมา, ลำปาง, พิษณุโลก, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช, ยะลา และ นครนายก) เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชนและบุคลากรทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน ในพื้นที่ 76 จังหวัด และกำหนดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน,  บุคลากร 7 ภาคี และประชาชนที่มีความสนใจ รวมถึง กำหนดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน และประชาชนและบุคลากรภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อต่อยอดการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีชีวิต ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง ศูนย์ฝึกอาชีพ 6 แห่ง และวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน 1 แห่ง

                   “ขอให้กำลังใจให้ผู้บริหารที่ผ่านการอบรมครั้งนี้ ได้ร่วมกันเป็นผู้นำการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีชีวิต ร่วมกันสร้างพลังทีมงานให้มีกำลังใจที่ดี เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกรมฯ อยู่เคียงข้างประชาชน ไม่ทอดทิ้งประชาชน สร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชน ให้พี่น้องประชาชนมีความสุข” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!