สุพรรณบุรี-ปลูกหญ้าแฝกต้นไม้ ปล่อยพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ
ภาพ/ข่าว:มงคล สว่างศรี/ภัทรพล พรมพัก/ธนกฤต แตงโสภา/โสภณ สว่างศรี/วรเทพ บุญประสริฐ /ธีรพร ชูก้าน/นพดล แก้วเรือง
ปลูกหญ้าแฝกต้นไม้ ปล่อยพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ
ที่บ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ อำเภอเดิมบางนางบวช นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ปลูกหญ้าแฝก ปลูกต้นไม้ และปล่อยพันธุ์ปลา เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุครบ 67 พรรษา และขับเคลื่อนงาน “ วันดินโลก (World Soil Day) จังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2562 ” โดยมีนายวัฒนา ยั่งยืน นายอำเภอเดิมบางนางบวช พร้อมส่วนราชการให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม ปลูกหญ้าแฝกจำนวน 200,000 กล้า ปลูกต้นรวงผึ้งต้นไม้ประจำพระองค์รัชกาลที่ 10 ต้นพยุง และไม้ป่าอื่นๆ จำนวน 267 ต้นและปล่อยพันธุ์ปลา ปลากาดำ ปลาพื้นถิ่น จำนวน 400,000 ตัว
ด้าน นายวันชัย วงษา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี กล่าวว่าความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินมีสาเหตุทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากฝีมือมนุษย์(จากการใช้ที่ดินไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ) ตัวอย่างปัญหา เช่น การชะล้างพังทลายของดิน การขาดอินทรีย์วัตถุ และปัญหาที่เกิดจากสภาพธรรมชาติของดิน ร่วมกับการกระทำของมนุษย์ เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินอินทรีย์(พรุ) ดินทรายจัด และดินตื้น พื้นที่ดินที่มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขาดความอุดมสมบูรณ์ “ ดินจืด ” เฉพาะประเทศไทย มีมากถึง 108.87 ล้านไร่
สาเหตุและปัญหาของการชะล้างพังทลายของดิน ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำไหลบ่า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง แต่ในประเทศที่แห้งแล้ง การชะล้างพังทลายของดินส่วนใหญ่อาจเกิดจากลม ในบริเวณที่ราบลุ่มการชะล้างพังทลาย อาจมีสาเหตุจาก ความลาดชันที่เกิดจากการขุด-ถม เช่น คันคลอง ร่องสวน ไหล่ทาง ก่อสร้างอาคาร การปรับภูมิทัศน์ และ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ การทำเกษตรที่ไม่ถูกวิธี การชะล้างพังทลายทำให้ดินดีที่อยู่ด้านบนถูกชะล้างออกไป ทำให้ความอุดมสมบูรณ์/ความเหมาะสม ในการปลูกพืชลดลง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้นโดยทรงศึกษาถึงศักยภาพของ”หญ้าแฝก”ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกัน การชะล้างและพังทลายของหน้าดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดินไว้ อีกทั้งยังเป็นพืชพื้นบ้านของไทยวิธีการปลูกก็ใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ที่เกษตรกร สามารถดำเนินการได้เอง โดยไม่ต้องให้การดูแลหลังการปลูกมากนัก อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่นๆ อีกด้วย
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/